การบริหารจัดการครอบครัวมุสลิมที่มีภรรยาหลายคนในอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา
1) ระบบครอบครัวอิสลามและการมีภรรยาหลายคนในศาสนาอิสลาม
2) การบริหารจัดการของครอบครัวมุสลิมที่มีภรรยาหลายคนในอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
3) ปัญหาและเงื่อนไขเชิงบริบทที่ส่งผลต่อการบริหารจัดการครอบครัวมุสลิมที่มีภรรยาหลายคนในอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
 
       โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงเอกสารและเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลภาคสนามจากกรณีศึกษาซึ่งเป็นครอบครัวมุสลิม จำนวนทั้งสิ้น 10 ครอบครัว โดยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก และการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และเชื่อมโยงความสัมพันธ์ โดยใช้คอมพิวเตอร์โปรแกรม ATLAS.ti ช่วยในการจัดระบบการวิเคราะห์ข้อมูลและสร้างข้อสรุประดับมโนทัศน์ ผลการวิจัยพบว่า 
       1. ระบบครอบครัวในศาสนาอิสลามมีความสมบูรณ์แบบ มีการกำหนดเป้าหมาย กฎเกณฑ์ บทบาทหน้าที่ และโครงสร้างของระบบความสัมพันธ์ที่ชัดเจน การสร้างครอบครัวบนรากฐานของศาสนาจึงเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติตามคำสอนศาสนา การที่บทบัญญัติศาสนาอิสลามได้อนุญาตให้ผู้ชายมีภรรยาได้มากกว่าหนึ่งคนแต่ไม่เกินสี่คนภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม เป็นการแสดงถึงความสมบูรณ์และความครอบคลุมของบัญญัติทางศาสนาที่สามารถสนองความต้องการของมนุษย์เพื่อรักษาไว้ซึ่งศีลธรรมอันดีงามในสังคม ตลอดจนสร้างความสมดุลให้แก่สภาวะของสังคมในทุกยุคสมัย มนุษย์ในแต่ละยุคสมัยจึงต้องนำบทบัญญัติมาปฏิบัติอย่างรอบคอบให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของศาสนา และพึงมีความตระหนักว่าความรับผิดชอบในเรื่องครอบครัวนั้นเป็นสิ่งที่ต้องถูกสอบสวนในโลกหน้า 
       2. การบริหารจัดการในครอบครัวที่มีภรรยาหลายคนมีองค์ประกอบ ดังนี้ 
          1) การให้ความยุติธรรมด้านการแบ่งเวลา การให้ค่าอุปการะเลี้ยงดู และการมอบสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ที่ภรรยาและบุตรพึงได้รับตามข้อก าหนดศาสนา 
          2) การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว อันได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างบรรดาภรรยา ระว่างบิดากับบุตร และระหว่างบุตรต่างมารดา 
          3) การถ่ายทอดความรู้ศาสนาให้แก่สมาชิก ทั้งในระดับสามีต่อภรรยา และบิดามารดาต่อบุตร 
          4) การอบรมเลี้ยงดูบุตร ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของทั้งผู้ที่เป็นสามีและภรรยา 
          5) การจัดการความขัดแย้งภายในครอบครัวด้วยสันติวิธีตามแนวทางศาสนา และ 
          6) การจัดการอารมณ์และความเครียด ด้วยการคิดในแง่ที่ดีและควบคุมอารมณ์ให้อยู่ภายใต้กรอบคำสอนศาสนา 
      3. ปัญหาที่ส่งผลต่อการบริหารจัดการครอบครัวมุสลิมที่มีภรรยาหลายคน แบ่งออกได้ดังนี้ คือ 
          1) ปัญหาที่มีสาเหตุมาจากบุคคลภายใน อันได้แก่ ครอบครัวต้องประสบกับสภาวะความเครียดในช่วงของการปรับตัว ผู้นำครอบครัวขาดการเตรียมความพร้อมในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ภรรยาคนที่หนึ่ง และปัญหาสภาพทางเศรษฐกิจของครอบครัวที่ขาดความคล่องตัว 
          2) ปัญหาที่มีสาเหตุมาจากบุคคลภายนอก ได้แก่ ขาดการยอมรับจากบิดามารดาและเครือญาติของภรรยา ความไม่เข้าใจของกลุ่มเพื่อนของบรรดาภรรยา การได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากสังคม และการได้รับผลกระทบจากสื่อที่เข้ามาคุกคามความมั่นคงของครอบครัว 
       นอกจากนี้ เงื่อนไขเชิงบริบทยังคงส่งผลต่อการบริหารจัดการครอบครัว กล่าวคือ ควรมีการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องควบคู่กันทั้งในระดับปัจเจกบุคคล คือ ผู้นำครอบครัว ภรรยา และสตรีมุสลิมคนอื่นๆ และในระดับสังคมก็ควรมีการให้องค์ความรู้ที่ถูกต้องแก่มุสลิมทุกคน เพื่อให้การนำบทบัญญัตินี้ไปปฏิบัติมีความถูกต้องและเหมาะสมกับบริบทพื้นที่มากที่สุด