ประกาศ ทุนต่อยอดโครงงานวิจัย ของ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านผู้หญิงและความมั่นคงทางสังคม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

การประกาศ ทุนต่อยอดโครงงานวิจัย ของ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านผู้หญิงและความมั่นคงทางสังคม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
เรื่อง การเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมทุนสนับสนุนเพื่อพัฒนางานวิจัย
 
หลักการและเหตุผล
ด้วยเป้าหมายของการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศด้านผู้หญิงและความมั่นคงทางสังคม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้เป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาแหล่งรวมองค์ความรู้ด้านผู้หญิงและความมั่นคงทางสังคมในภาคใต้  และสามารถพัฒนาสู่สถาบันคลังสมอง (Think tank) ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเชิงนโยบายเพื่อตอบโจทย์เกี่ยวกับประเด็นความเสมอภาคเท่าเทียมทางเพศและความมั่นคงทางสังคมร่วมกับองค์กรภาครัฐและเอกชน  ที่ผ่านมาทางศูนย์ความเป็นเลิศด้านผู้หญิงและความมั่นคงทางสังคมมีแนวทางในการนำงานวิจัยและวิชาการขับเคลื่อนประเด็นสำคัญและนโยบายทางสังคม โดยได้จัดกิจกรรมวิชาการทั้งในระดับชาติและนานาชาติร่วมกับเครือข่ายการทำงานและผลักดันให้เกิดทบทวนการทำงานในมิติที่เคารพต่อสิทธิทางเพศ เช่น ประชุมนานาชาติ “รื้อทวนความคิดเรื่องผู้หญิงกับความมั่นคงในสถานการณ์ความรุนแรงแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  (International Conference on Rekindle the Logic of Women and Security in Southeast Asian Conflict 2018) รวมทั้งวิจัยเพื่อทบทวนสถานภาพองค์ความรู้ผู้หญิงภาคใต้
 
ในการนี้ เพื่อเชื่อมต่องานวิชาการและการวิจัย ศูนย์ฯ พบว่าองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคภาคใต้ยังมีการศึกษาที่จำกัดแม้พบงานจำนวนหนึ่งได้ศึกษาประเด็นสุขภาพอนามัยของผู้หญิง แม่ และเด็ก หรืองานด้านผู้หญิงกับความรุนแรงมีมากขึ้นหลังจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ตาม และเพื่อให้งานทบทวนสถานภาพองค์ความรู้ถูกใช้ประโยชน์เป็นฐานในการสนทนาและต่อยอดองค์ความรู้ให้ขยายเติบโตในการสร้างประเด็นทางวิชาการและข้อค้นพบใหม่ ศูนย์ฯ ขอเชิญชวนนักวิจัย และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ที่มีมุมมองและสนใจศึกษาประเด็นผู้หญิงหรือเพศสภาพในภาคใต้ที่เกี่ยวพันในขอบข่ายวิชาการทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ร่วมส่งแนวทางการวิจัยอย่างย่อ (concept note) ที่มีการพัฒนาต่อยอดจากรายงาน “โครงการทบทวนสถานภาพองค์ความรู้ผู้หญิงภาคใต้”  เพื่อนำผลการศึกษามารวบรวมตีพิมพ์ในวารสารวิชาการในโอกาสต่อไป
 
วัตถุประสงค์
          1.เพื่อผลิตงานวิจัยที่เสริมองค์ความรู้ในประเด็นเพศสภาพกับมิติต่างๆ ในภาคใต้
          2.นักวิจัยสามารถตีพิมพ์ผลงานในวารสารทางวิชาการคุณภาพสูง
 
ขอบข่ายของงานวิจัย
  1. การเมือง
  2. เศรษฐกิจ
  3. ความมั่นคงทางสังคม
  4. ความรุนแรงในมิติเพศสภาพ
งบประมาณทุน
          ทุนละ 15,000 บาท จำนวน 4 ทุน
 
คุณสมบัติของผู้สมัคร
          เป็นนักวิชาการ นักวิจัย หรือนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา
 
ระยะเวลาการดำเนินงาน
  1. เปิดรับ concept note ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ พร้อมแนบ curriculum vitae ผู้สมัคร หรือภาษาไทยและภาษาอังกฤษ  ตั้งแต่ 1-15 พฤษภาคม 2563 ไม่เกิน 1 หน้า ทางอีเมล cewss.wu@gmail.com
  2. 2. คัดเลือกจาก concept note ที่ผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการ ระหว่าง 15-30 พฤษภาคม 2563
  3. ประกาศผลชิ้นงานที่ได้รับการสนับสนุน 1 มิถุนายน 2563
  4. ส่ง draft (research) paper ความยาว 4,500 – 8,000 คำ หรือ ระหว่าง 12-18 หน้า ภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563
  5. กำหนดส่งบทความฉบับสมบูรณ์ (บทความที่ได้รับการแก้ไขตามความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ) ภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2563
ผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมให้คำแนะนำ
  1. Dr. Patrick Jory : Senior Lecturer in Southeast Asian History, School of Historical and Philosophical Inquiry,The University of Queensland, Australia (อยู่ในระหว่างทาบทาม)
  2. ผศ.ดร. วัณณสาส์น นุ่นสุข : Ph.D. , Assistant Professor of Art History , Department of Art and Design, California State University, Fresno
  3. Dr. Mala Rajo Sathian :Senior Lecturer at the Department of Southeast Asian Studies, University of Malaya (UM) Kuala Lumpur