ภาพแสดงแทนผู้หญิงในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้สมัยจารีตถึงยุคแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ

ภาพแสดงแทนผู้หญิงในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้สมัยจารีตถึงยุคแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ
โครงการจัดประชุมวิชาการระดับชาติเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 13
ภูมิภาคนิยม และท้องถิ่นนิยมสมัยใหม่ในโลกไร้พรมแดน
 
บทคัดย่อ
งานศึกษาวิจัยชิ้นนี้ เป็นการนำเสนอเบื้องต้นของการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภาพแทนผู้หญิงในวรรณกรรม
ท้องถิ่นภาคใต้ โดยใช้วิธีสำรวจจากบทความ วิทยานิพนธ์ และหนังสือที่เกี่ยวข้อง แล้ววิเคราะห์ตามกรอบ
พัฒนาการของวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ในแต่ละช่วงเวลาเพื่อนำเสนอให้เห็นว่าผู้หญิงมีการนำเสนอภาพแทนใน
วรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ที่แตกต่างกันอย่างไรในแต่ละช่วงเวลา โดยใช้แนวคิดการสร้างภาพแทน (representation)

ผู้หญิงในการวิเคราะห์ รวมด้วย ซึ่งมีข้อค้นพบเบื้องดังนี้
เรื่องราวของผู้หญิงในยุคแรกปรากฏในวรรณกรรมท้องถิ่นในรูปแบบตำนาน นอกจากนั้นได้มีหลัก
ฐานทางประวัติศาสตร์แบบลายลักษณ์อื่นที่ได้บันทึกเรื่องราวของผู้หญิงในภาคใต้ไว้คือศิลาจารึกและพงศาวดาร
โดยมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาและการสร้างบ้านแปงเมือง รวมถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่าง
อาณาจักรศูนย์กลางและเมืองชายขอบ ภาพแทนผู้หญิงที่ปรากฏในตำนาน ให้ภาพที่แตกต่างจากพงศาวดารที่
เขียนขึ้นโดยรัฐส่วนกลาง ส่วนศิลาจารึกให้ภาพความหลากหลายของผู้คนต่างถิ่นจากดินแดนอื่นที่เข้ามาอาศัย
อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ของไทย และปรากฏเรื่องราวของผู้หญิงท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมิติทางศาสนาและปฏิสัมพันธ์กับคน
ต่างถิ่นผ่านการแต่งงาน

วรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ในยุคการผนวกเข้ากับอาณาจักรอยุธยาและอาณาจักรสยามปรากฏภาพ
แทนผู้หญิงที่สะท้อนเรื่องราวการพยายามเข้ามามีอำนาจเหนือของอาณาจักรศูนย์กลาง คือ อยุธยาและสยาม ใน
สมัยอยุธยานอกจากมีการผสมผสานเรื่องราวตำนานท้องถิ่น พุทธศาสนา และสถาบันกษัตริย์ของอาณาจักร
ศูนย์กลาง มีการเขียนพงศาวดารที่นำเสนอภาพแทนผู้หญิงชนชั้นสูงที่ช่วยแผ่ขยายอำนาจและความสัมพันธ์
ระหว่างหัวเมืองภาคใต้กับอาณาจักรศูนย์กลางผ่านการแต่งงาน นอกจากนั้น ปรากฏวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ที่
ได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมภาคกลาง เรื่องราวของผู้หญิงปรากฏในสุภาษิตคำสอนและนิทานประโลมโลก ภาพ
แทนผู้หญิงที่ปรากฏเน้นการเป็นผู้หญิงดีตามอุดมการณ์พุทธศาสนาและยกย่องชายเป็นใหญ่

วรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ถึงยุคแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
แห่งชาติภาพแทนผู้หญิงที่ปรากฏในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้มีความเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่มีคุณลักษณะร่วม
กับผู้หญิงภาคกลาง มาสู่การนำเสนอชีวิตผู้หญิงในบริบทสังคมท้องถิ่นมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ได้สร้างภาพแทน
ผู้หญิงภาคใต้ที่นักประพันธ์ท้องถิ่นได้สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ให้มีลักษณะมั่นใจ เป็นตัวของตัวเอง เก่งทั้งเรื่องในครัว
เรือนและนอกบ้าน มีความทันสมัย
 
คำสำคัญ: ภาพแสดงแทน ผู้หญิงภาคใต้ วรรณกรรมท้องถิ่น
 
ผู้เขียน: ทวีลักษณ์ พลราชม (หน้า-357)