องค์ความรู้ด้านผู้หญิงภาคใต้

ชื่อเรื่อง
สภาพความเป็นอยู่และการทำงานของแรงงานสตรีจากจังหวัดสตูลในประเทศมาเลเซีย
บทคัดย่อ
ได้รับทุนจาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่ชาติ (วช.) ปีงบประมาณ 2550  
          
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปรากฏการณ์การย้ายถิ่นระหว่างประเทศของแรงงานสตรี โดยเน้นการศึกษา 1) สภาพชีวิตความเป็นอยู่ และการทำงานของแรงงานสตรีที่เจ้าไปทำงานในประเทศมาเลเซีย  2) ศึกษาวิธีการส่งเงินกลับ และการใช้จ่ายเงินที่ส่งกลับจากการทำงานในประเทศมาเลเซีย และ  3) เพื่อเสนอแนะผู้กำหนดนโยบายในการลดปัญหาแรงงานสตรีที่เคลื่อนย้ายไปทำงานต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศมาเลเซีย ข้อมูลในการศึกษา เก็บและรวบรวมจากข้อมูลทุติภูมิและข้อมูลปฐมภูมิ โดยใช้แบบสอบถาม และการสัมภาษณ์ โดยเก็บข้อมูลในชุมชนปลายทางในประเทศมาเลเซียในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2551
          
ผลการศึกษาพบว่า แรงงานสตรีพอใจในสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ และรายได้ที่ได้รับจากการทำงาน แรงงานส่วนใหญ่รู้จักกันมาก่อนที่จะมาทำงานทั้งในเกาะลังกาวีและรัฐปีนัง สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหา มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างเพื่อนร่วมงาน แม้ว่าแรงงานสตรีบางคนมีเพื่อร่วมงานเป็นชาวมาเลเซียและอินโดนีเซีย ก็ไม่มีปัญหาในการทำงานกับเพื่อนร่วมงานจากประเทศอื่น นายจ้างส่วนใหญ่จัดเตรียมที่พัก อาหารและสวัสดิการต่างๆ รวมทั้งการค่ารักษาพยาบาลให้แก่ลูกจ้าง
          
อย่างไรก็ตาม การเดินทางเข้าไปทำงานที่เกาะลังกาวีของแรงงานสตรีจากจังหวัดสตูล ส่วนใหญ่เดินทางไปทำงานด้วยตนเอง โดยใช้ใบผ่านแดน (Border pass) ทำให้แรงงานต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เพื่อประทับตราอนุญาต ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองทั้งสองประเทศทุกๆ เดือน ส่วนแรงงานที่ไปทำงานในรัฐปีนัง จะมีปัญหาจากการใช้ใบผ่านแดนในการเดินทาง เนื่องจากรัฐปีนังไม่มีพรมแดนติดกับประเทศไทยตามข้อตกลง ปัญหาที่พบ ได้แก่ ต้องจ่ายค่าปรับ ถูกจำคุก ทำให้ต้องหลบๆ ซ่อนๆ เจ้าหน้าที่ของมาเลเซียในขณะที่ทำงาน และระหว่างเดินทางเข้าออกประเทศ นอกจากนี้แรงงานที่แต่งงานกับชาวมาเลเซียและยังไม่ได้รับสัญชาติมาเลเซีย ต้องเดินทางไป-กลับ เหมือนแรงงานทั่วไปทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และยิ่งกว่านั้นบางรายมีปัญหาการหย่าร้าง ถูกทอดทิ้งไม่ได้รับการเลี้ยงดูและต้องรับภาระเลี้ยงดูบุตรที่เกิดจากสามีชาวมาเลเซีย ซึ่งปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยการเจรจาทำความตกลงในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล
ผู้เขียน
นิสากร กล้าณรงค์
ปี
2551
ด้าน
ด้านประชากรศึกษา
  • การย้ายถิ่น การเคลื่อนย้ายผู้หญิงเพื่อการมีงานทำ
ประเภท
งานวิจัย
หน่วยงาน
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ