การศึกษาครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อ เปรียบเทียบปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคมและประชากรที่มีต่อความรู้และการใช้การวางแผนครอบครัวของสตรีไทยพุทธและสตรีไทยมุสลิม ในเขตอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
การเก็บข้อมูลจากการสำรวจโครงการประเมินผลโครงการ “สงขลา” ในส่วนของการประเมินผลภาวะอนามัยครอบครัว ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่างคณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดลและกองอนามัยครอบครัว กระทรวงสาธารณสุข โดยทำการเก็บข้อมูลในระหว่างเดือนมิถุนายน 2523 จากสตรีที่สมรสแล้ว ระหว่าง 15-49 ปี จำนวน 1,035 คน แยกเป็นสตรีไทยพุทธ 514 คน และสตรีมุสลิม 521 คน
ผลการศึกษาพบว่า สตรีไทยพุทธมีความรู้และใช้การวางแผนครอบครัวมากกว่าสตรีมุสลิมหนึ่งเท่าตัว ผลการวิเคราะห์ พบว่า การศึกษาของสามีมีผลต่อการวางแผนครอบครัวของสตรีไทยพุทธ ต่อมาคือการศึกษาของสตรี จำนวนบุตรที่มีชีวิตอยู่ อายุของสตรี อาชีพ ความต้องการมีบุตรเพิ่ม ส่วนสตรีไทยมุสลิมมีความรู้และใช้การวางแผนครอบครัวน้อยกว่าสตรีไทยพุทธ ตัวแปรที่เป็นตัวกำหนดที่สำคัญที่สุดทำให้สตรีที่มีความรู้แล้วใช้หรือไม่ใช้การวางแผนครอบครัว คือความต้องการมีบุตรเพิ่ม ส่วนสตรีมุสลิมคือจำนวนบุตรที่ยังมีชีวิตอยู่ (บุษบง ชัยเจริญวัฒนา, 2531, หน้า 46)