วิทยานิพนธ์เรื่องนี้เลือกพื้นที่จังหวัดปัตตานีซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งที่ประชากรมีปัญหาสุขภาพของเด็กและการตายของเด็กสูงเมื่อเปรียบเทียบกับภาคใต้ด้วยกัน จึงสมควรจะได้ศึกษาอย่างยิ่งถึงความเชื่อของมารดา ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะค้นหาสาเหตุของปัญหาสุขภาพที่มีอยู่ในภูมิภาคนั้น ประกอบกับในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 กำหนดให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคง และเป็นพื้นที่มีลักษณะจำเพาะของประชากรในจังหวัดปัตตานีคือมีเชื้อชาติมลายู ศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของประชาชนแตกต่างไปจากภูมิภาคอื่นของประเทศคือประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม จุดประสงค์ของการศึกษานี้คือ เพื่อศึกษาความเชื่อของมารดาไทยพุทธและไทยมุสลิม ในด้านการดูแลสุขภาพเด็กก่อนวัยเรียนในจังหวัดปัตตานี เพื่อเปรียบเทียบความเชื่อของมารดาไทยพุทธและไทยมุสลิมในด้านการดูแลสุขภาพเด็กก่อนวัยเรียน ในจังหวัดปัตตานีตามตัวแปร ศาสนา อายุ อาชีพ ระดับการศึกษาและฐานะเศรษฐกิจของครอบครัว
จากการศึกษาพบว่า
1. มารดาไทยพุทธและมารดาไทยมุสลิมมีความเชื่อด้านการดูแลสุขภาพเด็กก่อนวัยเรียนแตกต่างกัน
2. มารดาไทยพุทธที่มีความแตกต่างกันด้านอาชีพ ระดับการศึกษา และฐานะเศรษฐกิจของครอบครัว มีความเชื่อด้านการดูแลสุขภาพเด็กก่อนวัยเรียนแตกต่างกัน แต่มารดาไทยพุทธที่มีอายุแตกต่างกันมีความเชื่อด้านการดูแลสุขภาพไม่แตกต่างกัน
3. มารดาไทยมุสลิมที่มีความแตกตางกันด้านอายุ อาชีพ และฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว มีความเชื่อด้านการดูแลสุขภาพ เด็กก่อนวัยเรียนไม่แตกต่างกัน แต่มารดาไทยมุสลิมที่มีระดับการศึกษาแตกต่างกันมีความเชื่อด้านการดูแลสุขภาพแตกต่างกัน
4. จากการวิเคราะห์ความแตกต่างของความเชื่อด้านการดูแลสุขภาพเด็กก่อนวัยเรียนระหว่างมารดาไทยพุทธกับมารดาไทยมุสลิม จำแนกตามอายุ อาชีพ และฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว พบว่ามีความแตกต่างกันในทุกกลุ่ม สำหรับตัวแปรด้านการศึกษาพบว่ามีความแตกต่างกันในทุกกลุ่ม ที่ไม่สำเร็จชั้นประถมศึกษาและอุดมศึกษา แต่ไม่มีความแตกต่างกันในกลุ่มมารดาที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษา