Knowledge Management of Women in the South

Title
ความพึงพอใจของสตรีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ต่อบริการด้านการวางแผนครอบครัว
Abstract
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับความพึงพอใจของสตรีต่อบริการด้านการวางแผนครอบครัว และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะการเข้าถึงบริการที่มีผลต่อระดับความพึงพอใจของสตรีต่อบริการด้านการวางแผนครอบครัว โดยใช้ข้อมูลของโครงการวิจัยเรื่องการศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้รับบริการและเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการวางแผนครอบครัว : นัยสำหรับประสิทธิภาพของโครงการ หน่วยตัวอย่างที่ศึกษาคือสตรีที่เคยสมรสอายุ 15-46 ปี จำนวน 1,778 ราย ผลการวิจัยพบว่า ตัวแปรที่มีอิทธิพลอย่างชัดเจนต่อระดับความพึงพอใจของสตรีต่อบริการด้านการวางแผนครอบครัว ได้แก่ ระยะเวลาที่ใช้รอรับบริการ และความเข้าใจในคำอธิบายเรื่องการวางแผนครอบครัว โดยตัวแปรระยะเวลาที่ใช้รอรับบริการนี้มีอิทธิพลต่อระดับความพึงพอใจต่อบริการด้านการวางแผนครอบครัวเฉพาะสตรีในภาคใต้ กล่าวคือ สตรีที่ใช้เวลารอรับบริการไม่นานมีระดับความพึงพอใจสูงกว่าสตรีที่ใช้เวลารอรับบริการนานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนตัวแปรความเข้าใจในคำอธิบายเรื่องการวางแผนครอบครัวมีอิทธิพลต่อระดับความพึงพอใจต่อบริการด้านการวางแผนครอบครัวเฉพาะสตรีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยสตรีที่มีความเข้าใจในคำอธิบายเรื่องการวางแผนครอบครัวได้มากมีระดับความพึงพอใจต่อบริการด้านการวางแผนครอบครัวสูงกว่าสตรีที่มีความเข้าใจในคำอธิบายเรื่องการวางแผนครอบครัวได้น้อยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สำหรับตัวแปรระยะทางจากที่อยู่อาศัยไปยังสถานบริการ และระยะเวลาที่ใช้เดินทางจากที่อยู่อาศัยไปยังสถานบริการมีอิทธิพลต่อระดับความพึงพอใจของสตรีทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและในภาคใต้น้อยมาก ทั้งนี้อาจเนื่องจากรัฐได้ขยายหน่วยบริการด้านสาธารณสุข และการปรับปรุงคมนาคมในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา จึงทำให้หน่วยบริการของรัฐที่ใกล้ที่สุดจะให้บริการด้านการวางแผนครอบครัวตั้งอยู่ห่างจากที่อยู่อาศัยเพียง 3.5 กิโลเมตร และใช้เวลาเดินทางน้อยกว่าครึ่งชั่วโมง ข้อค้นพบอีกประการหนึ่งคือ อายุของสตรีมีผลต่อระดับความพึงพอใจของสตรีทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและในภาคใต้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กล่าวคือ สตรีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในกลุ่มอายุ 35-49 ปีมีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจสูงที่สุด รองลงมาในกลุ่มอายุ 15-24 ปี และน้อยที่สุดในกลุ่มอายุ 25-34 ปี ส่วนในภาคใต้พบว่า อายุของสตรีมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับระดับความพึงพอใจของสตรี
Author
เพลินตา พานทอง
Year
2536
Subject Group
ด้านประชากรศึกษา
  • การวางแผนครอบครัว
Type
วิทยานิพนธ์
Organization
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย