การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการสนับสนุนจากคู่สมรสกับความผูกพันต่อทารกในครรภ์ของหญิงครรภ์แรกที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ที่มารับบริการหน่วยฝากครรภ์ในโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช จำนวน 100 ราย ซึ่งมีอายุครรภ์ 28-40 เดือน
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1.การสนับสนุนจากคู่สมรสของหญิงครรภ์แรกโดยรวมและในแต่ละด้านอยู่ในระดับมาก
2. ความผูกพันต่อทารกในครรภ์ของหญิงครรภ์แรกโดยรวมและในแต่ละด้านอยู่ในระดับมาก
3. การสนับสนุนจากคู่สมรสมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความผูกพันต่อทารกในครรภ์ในระดับสูง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 สำหรับความสัมพันธ์ ระหว่างการสนับสนุนจากคู่สมรสแต่ละด้านกับความผูกพันต่อทารกในครรภ์แต่ละด้าน ส่วนใหญ่พบว่ามีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับปานกลาง แต่ความสัมพันธ์ระหว่างการสนับสนุนด้านอารมณ์กับความผูกพันต่อทารกในครรภ์แต่ละด้านอยู่ในระดับต่ำ
4. การทำนายความผูกพันต่อทารกในครรภ์ของหญิงครรภ์แรก โดยการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน พบว่าตัวแปรแรกคือ การสนับสนุนจากคู่สมรสสามารถทำนายความผูกพันต่อทารกในครรภ์ได้ร้อยละ 58.68 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ .0001 ตัวแปรอันดับที่สอง คือ รายได้ของครอบครัว สามารถร่วมกันทำนายความผูกพันต่อทารกในครรภ์ได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 60.31 อย่างมีนัยทางด้านสถิติที่ระดับ .05
การที่การสนับสนุนจากคู่สมรสมีความสัมพันธ์กับความผูกพันต่อทารกในครรภ์ของหญิงครรภ์แรก ในระดับสูง อาจเนื่องจากเหตุผลหลายประการ อาทิเช่น ลักษณะของกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาเป็นหญิงครรภ์แรก มีความต้องการตั้งครรภ์ และส่วนใหญ่วางแผนการตั้งครรภ์ร่วมกันกับคู่สมรส ผลการศึกษาสามารถใช้เป็นแนวทางในการให้คำแนะนำแก่คู่สมรสในการสนับสนุนภรรยาขณะตั้งครรภ์เพื่อส่งเสริมความผูกพันต่อทารกในครรภ์ให้ดียิ่งขึ้น ผู้วิจัยเสนอแนะการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการสนับสนุนจากคู่สมรสกับความผูกพันต่อทารกในครรภ์ ในกลุ่มครอบครัวเดี่ยว กลุ่มหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่น หรือกลุ่มที่มีภาวะเสี่ยงขณะตั้งครรภ์ การศึกษาเชิงเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างการสนับสนุนจากคู่สมรสกับความผูกพันต่อทารกในครรภ์แต่ละไตรมาสของการตั้งครรภ์ และการศึกษาเชิงพฤติกรรมในด้านความผูกพันต่อทารกในครรภ์ให้ลึกซึ่งยิ่งขึ้น