การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความสำเร็จในการดำรงบทบาทมารดาของ มารดาวัยรุ่นมุสลิมกลุ่มตัวอย่าง คือมารดาวัยรุ่นมุสลิมอายุไม่เกิน 19 ปีที่มีบุตรคนแรกและนำบุตรที่มีอายุ 4-6 เดือนมารับ บริการในคลินิกเด็กดีโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบมีระบบจำนวน 80 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนธันวาคม 2558 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบวัดความสำเร็จในการดำรงบทบาทมารดา แบบสอบถามการรับรู้ประสบการณ์การคลอด แบบสอบถามความเป็นเด็กเลี้ยงยาก-ง่ายของทารก และแบบสอบถามการสนับสนุนของครอบครัว ซึ่งตรวจสอบความตรงของเครื่องมือโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน และผ่านการตรวจสอบความเที่ยงได้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค ได้เท่ากับ .87, .90, .86 และ .93 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา และสถิติสหสัมพันธ์ของเพียร์สัน
ผลการศึกษาพบว่าการรับรู้ประสบการณ์การคลอดมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความสำเร็จในการดำรงบทบาทมารดา ในระดับสูงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = .615, p<.001) ภาวะพื้นฐานทางอารมณ์ของทารก มีความสัมพันธ์ทางบวกกับความ สำเร็จในการดำรงบทบาทมารดาในระดับต่ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r =.165, p<.001) การสนับสนุนของครอบครัวมี ความสัมพันธ์ทางบวกกับความสำเร็จในการดำรงบทบาทมารดาในระดับปานกลางอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ิ(r = .464, p < .001) จากผลการศึกษามีข้อเสนอแนะว่าพยาบาลควรส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ความสำเร็จในการดำรงบทบาทมารดาของมารดา วัยรุ่นมุสลิมโดยปรับเปลี่ยนปัจจัยด้านการรับรู้ประสบการณ์การคลอด เช่นการจัดสภาพแวดล้อมในห้องคลอดให้เป็นมิตรผู้คลอดสร้างทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการคลอดและการเป็นมารดา ด้านภาวะพื้นฐานทางอารมณ์ของทารก เช่นการให้ความรู้เกี่ยวกับ การเลี้ยงดูบุตร การให้คำแนะนำเกี่ยวกับการตอบสนองที่ตรงกับความต้องการของบุตร และด้านการสนับสนุนของครอบครัว เช่น การให้ครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมในการคลอดและการดูแลบุตร เป็นต้น (รัชฏากรณ์ ธรรมรัตน์, พิริยา ศุภศรี, และ สุพิศ ศิริอรุณรัตน์, 2560)