การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ 1) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆ กับการรับบริการคุมกำเนิดและ 2) เพื่อศึกษาปัจจัยที่เป็นตัวจำแนกการรับบริการคุมกำเนิดของสตรีไทยมุสลิม
กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย เป็นสตรีไทยมุสลิมที่สมรสแล้ว ซึ่งมีอายุ 15-44 ปี และกำลังอยู่กินกันสามี ในจังหวัดยะลา จำนวน 395 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มหลายขั้นตอนจากประชากรทั้งหมด 29,728 คน เป็นสตรีไทยที่รับบริการคุมกำเนิด จำนวน 144 คน และไม่รับบริการคุมกำเนิดจำนวน 251 คน โดยตัวแปรต้นที่ศึกษาคือ อายุ อายุแรกสมรส ระยะเวลาการสมรส จำนวนบุตรที่มีชีวิต จำนวนบุตรที่ต้องการ อาชีพ รายได้ของครอบครัว ระดับการศึกษา การสนับสนุนของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ค่านิยมเกี่ยวกับเพศของบุตร ความรู้เกี่ยวกับการคุมกำเนิด ลักษณะการให้บริการ การมุ่งอนาคต แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ และเจตคติต่อการคุมกำเนิด ตัวแปรตามคือ การบริการคุมกำเนิด เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลใช้แบบสัมภาษณ์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ร้อยละ การทดสอบไค-สแควร์ หาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบพอต์ไบซีเรียล และการวิเคราะห์จำแนกประเภท
ผลการวิจัยพบว่า การสนับสนุนของบุคคลที่เกี่ยวข้องและมีความสัมพันธ์กับการรับบริการคุมกำเนิดของสตรีไทยมุสลิมอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และ .05 ตามลำดับ ส่วนระดับการศึกษา ค่านิยมเกี่ยวกับเพศของบุตร อายุ อายุแรกสมรส ระยะเวลาการสมรส จำนวนบุตรที่มีชีวิต จำนวนบุตรที่ต้องการ รายได้ของครอบครัว ความรู้เกี่ยวกับการคุมกำเนิด ลักษณะการให้บริการ การมุ่งอนาคต แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ และเจตคติต่อการคุมกำเนิดไม่มีความสัมพันธ์กับการรับบริการคุมกำเนิดของสตรีไทยมุสลิม แต่ปัจจัยที่มีผลในการจำแนกการรับบริการคุมกำเนิดสตรีไทยมุสลิมในจังหวัดยะลาได้คือ จำนวนบุตรที่มีชีวิต อายุ ความรู้เกี่ยวกับการคุมกำเนิด ลักษณะการให้บริการ และจำนวนบุตรที่ต้องการ
ข้อเสนอแนะ จากผลการวิจัยนี้ ผู้วิจัยได้เสนอแนะให้เจ้าหน้าที่สาธารณะสุขที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการคุมกำเนิดในระดับตำบล อำเภอและจังหวัด ควรดำเนินงานสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์นั้นควรจะเป็นสื่อที่มีทั้งภาษาไทย และภาษามลายูท้องถิ่น เพื่อจะได้สอดคล้องกับกลุ่มประชากรไทยมุสลิม นอกจากนี้ควรจัดอบรมเรื่องการคุมกำเนิดให้แก่สามี และให้การสนับสนุนการคุมกำเนิดให้มากขึ้น