การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาถึงปัจจัยที่คาดว่าจะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเลี้ยงบุตรของสตรีที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐานะกับพฤติกรรมการเลี้ยงดูบุตร ศึกษาความสัมพันธ์ของศาสนาที่ทั้งสามีและภรรยานับถือกับพฤติกรรมการเลี้ยงดูบุตร ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสถานที่คลอด การทำคลอดกับพฤติกรรมการเลี้ยงดูบุตร ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาในการให้นมบุตรกับการเริ่มให้อาหารเสริมตามวัยแก่ทารก และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาในการให้นมบุตรกับระยะเวลาที่มีประจำเดือนครั้งแรกภายหลังคลอด และปัจจัยที่ทำให้สตรีไม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยมีการเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์สตรีที่มีบุตรคนสุดท้องอายุ 0-2 ปี ซึ่งได้คัดเลือกจากชุมชนแออัด 9 ชุมชน ได้แก่ โชคสมาน รักการ รัตนอุทิศ ถัดอุทิศ หน้าสถานี หน้าสนามกีฬา หลังอู่ ท.ศ. ข้างสนามกีฬา และแฟลตการเคหะแห่งชาติ จำนวนทั้งสิ้น 548 คน
ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยด้านอายุระดับการศึกษาของสามีกับสตรี ศาสนาที่สตรีและสามีนับถือไม่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเลี้ยงบุตรของสตรี อย่างไรก็ตามพบว่า การทำงานของสตรีมีอิทธิพลต่อการกำหนดพฤติกรรมของสตรีในการเลี้ยงดูบุตร นอกจากนี้ยังพบว่า สถานที่คลอดบุตรและจำนวนบุตรเกิดรอดมีอิทธิพลต่อการกำหนดพฤติกรรมการเลี้ยงดูบุตรของสตรีด้วย แต่ผู้ทำคลอดไม่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเลี้ยงดูบุตร ระยะเวลาการมีประจำเดือนครั้งแรกภายหลังคลอดมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาให้นมลูก และระยะเวลาให้นมลูกมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาการให้อาหารเสริมครั้งแรกแก่ลูกด้วย ส่วนพฤติกรรมที่มีอิทธิพลทำให้สตรีไม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ได้แก่ อายุของลูก ระยะเวลาในการให้นมลูก จำนวนบุตรเกิดรอด การทำงานของสามี จำนวนครั้งของการแต่งงานและรายได้ของครอบครัวต่อเดือน นอกจากนี้พบว่า ระยะเวลาโดยเฉลี่ยของการเลี้ยงดูด้วยนมแม่ของสตรีที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดดังกล่าวนานประมาร 8.72 เดือน ส่วนระยะเวลาของการมีประจำเดือนครั้งแรกภายหลังคลอดโดยเฉลี่ยของสตรีทั้งหมดประมาณ 3.24 เดือน