บทความนี้สนใจศึกษาผู้หญิงมลายูมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส) ที่เคลื่อนย้ายเข้าไปเป็นแรงงานรับจ้าง ในร้านอาหารไทยในเขตรัฐตอนเหนือของประเทศมาเลเซียโดยเฉพาะในเขต รัฐกลันตัน รัฐเกดะห์และ รัฐปะลิส การศึกษานี้มุ่งหาคำตอบว่านอกจากสาเหตุ ที่ผู้หญิงมลายูมุสลิมต้องข้ามแดนไปทำงานแล้วความสัมพันธ์กับครอบครัว และชุมชนของตนเองในประเทศไทยหลังจากไปทำงานเป็นอย่างไรคำตอบเหล่านี้ จะช่วยให้เกิดความเข้าใจผู้หญิงมลายูมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ในมิติความสัมพันธ์ทั้งในบริบทครอบครัวและบริบททางสังคมในประเทศต้นทาง ตลอดจนบทบาทที่เพิ่มขึ้นของผู้หญิงในครอบครัวของตนเองภายใต้เงื่อนไขต่างๆ อาทิ ความอยู่รอดของตนเองและครอบครัวความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม และการเมือง ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรในบ้านเกิดนโยบายการพัฒนาของรัฐเป็นต้น
การย้ายถิ่นข้ามชาติของผู้หญิงมลายูมุสลิมจากจังหวัดชายแดนเข้าไปเป็นแรงงานรับจ้างในประเทศมาเลเซีย เกิดขึ้นมานานก่อนที่เส้นพรมแดนของ 2 ประเทศจะมีขึ้น อย่างไรก็ตาม ภายใต้กฎเกณฑ์การเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศ และการที่แรงงานต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของแต่ละรัฐ ทำให้แรงงานผู้หญิงมลายูมุสลิมเหล่านั้นต้องหาช่องทางในการลักลอบเข้าไปทำงานและเอาตัวรอดประจำวันมีความเข้มข้นมากขึ้น แต่ดูเหมือนว่าการใช้แรงงานนอกระบบในภาคบริการในร้านอาหารแทบจะเป็นงานประเภทเดียวที่ผู้หญิงเหล่านั้นจะมีโอกาสและทำได้โดยอาศัยเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมในระดับลึก ด้วยเหตุนี้การข้ามแดนเข้าไปเป็นแรงงงานรับจ้างจึงเป็นวิธีการต่อรองที่เป็นลักษณะพิเศษของผู้หญิงชายแดนใต้ อีกทั้งยังมีความปลอดภัยค่อนข้างสูงในการทำงานในบริบทร้านอาหารไทยในประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ การส่งเงินกลับบ้านเป็นเงื่อนไขหลักในการมาทำงาน แรงงานหญิงส่วนใหญ่จะส่งเงินกลับบ้านอย่างสม่ำเสมอ อาจกล่าวได้ว่าผู้หญิงไม่เพียงจะรักษาสถานภาพและความสัมพันธ์ในครอบครัว ตลอดจนความสัมพันธ์ในสังคมมลายูมุสลิมในประเทศต้นทางแล้ว หากยังต้องพยายามดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีในประเทศปลายทาง แรงงานหญิงจึงให้ความสำคัญกับวางตัวต่อแขกที่เข้ามารับประทานอาหารในร้านอาหาร แต่เหตุผลที่สำคัญคือแรงงานหญิงส่วนใหญ่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายจึงต้องพยายามเก็บตัวจากคนนอกและยังต้องอยู่ในสายตาของเครือญาติเพื่อความปลอดภัย ฉะนั้นการแก้ปัญหาให้กับแรงงานผู้หญิงมลายูมุสลิมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงต้องพิจารณาทั้งในบริบทของประเทศที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานผู้หญิงจำนวนมาก และในบริบทของประเทศมาเลเซียซึ่งเป็นประเทศปลายทางที่รองรับแรงงานรับจ้างระดับล่างเหล่านี้