ที่ผ่านมาสังคมไทยรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์เอชไอวีในกลุ่มผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามน้อยมาก ซึ่งเมื่อถูกนำมาอธิบายเชื่อมโยงกับแง่มุมของศาสนาแล้ว เป็นพฤติกรรมที่ขัดกับวิถีปฏิบัติของความเป็นมุสลิมที่ดีตามหลักศาสนาอิสลาม การทำความเข้าใจเรื่องเอชไอวี/เอดส์ในบริบทของสังคมมุสลิมไม่เพียงแต่ต้องมีความเข้าใจและละเอียดอ่อนในประเด็นเรื่องของ “ศาสนา”เท่านั้น หากจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเข้าใจในเรื่อง “ความคิดความเชื่อเรื่องเพศ” ด้วยเช่นกัน หนังสือที่เรียบเรียงขึ้นจากเอกสารสรุปการสัมมนาเรื่อง “เอดส์กับสังคมมุสลิม” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยเพื่อประเมินบทบาท เพศภาวะและศาสนา ในการป้องกันเอชไอวี/เอดส์ และการเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพ โดยคณะวิจัยในโครงการนี้พบว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของเอชไอวี/เอดส์ในชุมชนมุสลิมที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงผูกโยง กับบทบาทและความสัมพันธ์เชิงอำนาจหญิงชาย การมองประเด็นผู้หญิง ความสัมพันธ์เชิงอำนาจและบทบาทหญิงชาย ควรต้องมองภายใต้บริบทสังคมวัฒนธรรมและวิถีชุมชนของผู้หญิงมุสลิม โดยที่ระบบการให้คุณค่าของความเป็นหญิงชาย ถูกประกอบสร้างขึ้นจากชุดความเชื่อ ทางศาสนา ค่านิยม จารีตหลายชุด ทั้งชุดที่เป็นหลักการคำสอน และการตีความภายใต้สังคมชายเป็นใหญ่ (http://www.seaconsortium.net)