องค์ความรู้ด้านผู้หญิงภาคใต้

ชื่อเรื่อง
การใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านเพื่อสร้างเสริมสุขภาพในระยะตั้งครรภ์: กรณี ศึกษาสตรีไทยมุสลิมในภาคใต้
บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงชาติพันธ์วรรณนาทางการพยาบาล ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรยายและอธิบายการสร้างเสริมสุขภาพในระยะตั้งครรภ์โดยใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านของสตรีไทยมุสลิมในภาคใต้ผู้ให้ข้อมูลคือ สตรีตั้งครรภ์ไทยมุสลิมและประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนแห่งหนึ่งในภาคใต้ โดยเลือกสตรีตั้งครรภ์ด้วยวิธีกำหนดคุณลักษณะ (criterion sampling) ร่วมกับวิธี สโนว์บอลส์ (snowball sampling) เป็นผู้ให้ข้อมูลหลักจำนวน 16 คน และประชาชนในชุมชนที่ผู้ให้ข้อมูลหลักอ้างว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ภูมิปัญญาพื้นเมืองของสตรีตั้งครรภ์ เป็นผู้ให้ข้อมูลทั่วไปจำนวน 5 คน เก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2546 ถึงเดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2547 โดยใช้วิธีการสังเกตแบบมีส่วนร่วม และไม่มีส่วนร่วม สัมภาษณ์เชิงลึกและสนทนากลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ethnonursing data analysis
 
ผลการวิจัยพบว่าสตรีตั้งครรภ์ไทยมุสลิมในชุมชนที่ศึกษารับบริการดูแลครรภ์จากสถานพยาบาลใกล้บ้าน ร่วมกับดูแลครรภ์โดยใช้วิธีการแบบพื้นบ้านที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา โดยรับรู้ว่าการดูแลครรภ์ที่ได้รับจากสถานพยาบาลและการดูแลครรภ์ด้วยการใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านของสตรีตั้งครรภ์เป็นดังนี้ 1) ทำพิธีแนแง 2) กินและ/หรือทาน้ำ และ/หรือน้ำมันที่ผ่านการทำพิธีสวดขอพร 3) ฝากท้องและยกท้องกับหมอตำแย 4) กินอาหารและสมุนไพร ผักผลไม้ กินน้ำแช่น้ำดอกไม้จากเมกกะ กินรากไม้ 5) ปฏิบัติตามความเชื่อเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ได้แก่ ปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนา ปฏิบัติตามความเชื่อในการดำเนินชีวิตประจำวัน การใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านสร้างเสริมสุขภาพในระยะตั้งครรภ์ทำให้สตรีตั้งครรภ์สุขกาย สบายใจ ซึ่งสตรีตั้งครรภ์ หวังผลจากการใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านเหล่านี้ใน 3 ลักษณะคือ 1) คลอดง่ายและปลอดภัย 2) ให้ลูกไม่พิการและเป็นคนดี และ 3) ให้แม่และลูกสุขสบายและแข็งแรง สำหรับการตัดสินใจใช้และ/หรือ เลือกใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านใดๆ ของสตรีตั้งครรภ์จะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ดังนี้ 1) ความเชื่อถือมีความรู้ความชำนาญและผู้มีประสบการณ์ 2) ประสบการณ์เดิม 3) ความสะดวกในการใช้ 4) ความสอดคล้องกับวิถีชีวิต และ 5) ความยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีของคนส่วนใหญ่ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ทีมสุขภาพซึ่งรับผิดชอบดูแลสตรีตั้งครรภ์ไทยมุสลิม สามารถใช้ผลการศึกษาครั้งนี้เป็นแนวทางสำหรับจัดบริการสร้างเสริมสุขภาพให้สอดคล้องกับสังคมและวัฒนธรรมมุสลิม
ผู้เขียน
จินตนา หาญวัฒนกุล
ปี
2548
ด้าน
ด้านสุขภาพแม่และเด็ก
  • ภูมิปัญญาเกี่ยวกับสุขภาพแม่และเด็ก
ประเภท
วิทยานิพนธ์
หน่วยงาน
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์