การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ เพื่อเปรียบเทียบความรักใคร่ผูกพันของมารดาต่อทารกในมารดาวัยรุ่นหลังคลอดที่เลี้ยงบุตรด้วยตนเอง และมารดาวัยรุ่นหลังคลอดที่เลี้ยงบุตรด้วยตนเองบางส่วน กลุ่มตัวอย่างเป็นวัยรุ่นหลังคลอดที่มารับการตรวจหลังลอด 45 วัน ณ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์ในภาคใต้ เป็นกลุ่มมารดาที่เลี้ยงบุตรด้วยตนเอง 258 ราย กลุ่มมารดาที่เลี้ยงบุตรด้วยตนเองบางส่วน 53 ราย เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบสะดวก เก็บข้อมูลระหว่างเดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นแบบสอบถาม ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการคลอด 2) แบบสอบถามประเมินความรักใคร่ผูกพันของมารดาต่อทารกที่ผู้วิจัยสร้างจากการทบทวนวรรณกรรมแบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ ด้านความรู้สึกนึกคิดต่อท่ารก และด้านพฤติกรรมที่แสดงถึงความรักใคร่ผูกพัน คะแนนรวมทั้ง 2 ด้าน คือ ด้านความรู้สึกนึกคิดต่อทารกและด้านพฤติกรรมที่แสดงถึงความรักใคร่ผูกพัน
ผลการวิจัยสรุปตามวัตถุประสงค์ดังนี้
1. ความรักผูกพันของมารดาต่อทารกในมารดาวัยรุ่นหลังคลอดที่เลี้ยงบุตรด้วยตนเองอยู่ในระดับสูง ทั้ง 2 ด้านได้แก่ ด้านความรู้สึกนึกคิดต่อทารกและด้านพฤติกรรมที่แสดงถึงความใคร่ผูกพันตามลำดับ
2. ความรักใคร่ผูกพันของมารดาต่อทารกในมารดาวัยรุ่นหลังคลอดที่เลี้ยงบุตรด้วยตนเองบางส่วนในระดับสูงทั้ง 2 ด้าน ได้แก่ ด้านความรู้สึกนึกคิดต่อทารกและด้านพฤติกรรมที่แสดงถึงความรักใคร่ผูกพัน
3. การเปรียบเทียบความรักใคร่ผูกพันของมารดาต่อทารกพบว่าค่าเฉลี่ยลำดับที่คะแนนความรักใคร่ผูกพันของมารดาต่อทารกกลุ่มมารดาวัยรุ่นหลังคลอดที่เลี้ยงบุตรด้วยตนเอง สูงกว่ากลุ่มมารดาวัยรุ่นหลังคลอดที่เลี้ยงลูกด้วยตนเองบางส่วนอย่างมีนัยสำคัญทาสถิติ p<.001
สรุป ความรักใคร่ผู้พันของมารดาต่อทารกในมารดาวัยรุ่นหลังคลอดที่เลี้ยงบุตรด้วยตนเองสูงกว่าของกลุ่มมารดาวัยรุ่นหลังคลอดที่เลี้ยงลูกด้วยตนเองบางส่วนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 กลุ่ม มีความรักใคร่ผูกพันของมารดาต่อทารกอยู่ในระดับสูง (ฉมาพร หนูเพชร, 2556)