บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอแนะและหาแนวทางในการบูรณาการการใช้ระบบผดุงครรภ์โบราณในการดูแลแม่เด็กเพื่อให้อัตราการตายของทารกลดลง ทั้งนี้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้รับมอบหมายให้พิจารณาหาแนวทางจัดระบบการดูแลแม่และเด็กที่เหมาะสมสอดคล้องกับวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น พบว่าปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกคลอดบุตรกับผดุงครรภ์โบราณ คือ อิทธิพลของเครือข่ายทางสังคม หรือบุคคลใกล้ชิด ความเชื่อของชุมชน สภาพแวดล้อมขณะคลอดที่ต้องการให้ญาติพี่น้องคอยให้กำลังใจอยู่พร้อมหน้ากัน ความสะดวกในการรับบริการ เพราะอยู่ใกล้บ้าน วิธีการให้บริการของผดุงครรภ์โบราณ เช่นการใช้คาถา ใช้น้ำมันมะพร้าว มีความมิดชิดไม่เปิดเผยช่องคลอดและตามหลักศาสนาอิสลามจะเป็นบาปมากถ้าหมอที่คลอดเป็นผู้ชาย ความเชื่อมั่นในประสบการณ์และความสามารถของผดุงครรภ์โบราณ ค่าใช้จ่ายในการคลอด ซึ่งการคลอดกับผดุงครรภ์โบราณมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าไปคลอดโรงพยาบาล
ส่วนปัจจัยที่ทำให้ผดุงครรภ์โบราณดำรงอยู่ได้คือ ด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม คือเจ้าหน้าที่มีเคารพวัฒนธรรมท้องถิ่น ความรู้สึกไม่ได้เป็นพวกเดียวกัน ปัจจัยด้านระบบบริการของผดุงครรภ์โบราณ คือความเชื่อมั่นต่อความสามารถของผดุงครรภ์โบราณ ด้านรูปแบบการบริการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน เช่นการคลอดที่บ้าน
ข้อเสนอแนะคือในระบบบริการของรัฐต้องเปิดใจที่จะเรียนรู้องค์ความรู้หรือศาสตร์ของการผดุงครรภ์โบราณหรือโต๊ะบีแดที่ใช้ในการดูแลหญิงตั้งครรภ์ ทำคลอดและดูแลหลังคลอด ที่ทำให้ชุมชนยอมรับและให้บริการมาถึงทุกวันนี้ ด้วยการปรับใช้หรือผสมผสานในระบบสุขภาพให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน เพื่อให้การบริการมีคุณภาพมากขึ้นและสอดคล้องกับวิถีชุมชน ลดงานเจ้าหน้าที่และลดความขัดแย้งในใจของหญิงตั้งครรภ์ที่ต้องมาใช้บริการในสถานบริการของรัฐ