การวิจัยเชิงคุณภาพนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายการจัดบริการ กระบวนการพัฒนาปัจจัยส่งเสริม ปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาการจัดบริการฝากครรภ์ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ของจังหวัดสงขลา เลือกให้ข้อมูลแบบเจาะจงรวม 24 คน คือ ผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้อง 12 คน รวมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม) หญิงตั้งครรภ์ และตัวแทนองค์กรปกครองสวนท้องถิ่น กลุ่มละ 4 คน เก็บรวบรวมข้อมูลจาก 4 พื้นที่ โดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วมและการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบความตรงของแนวคำถามในการสัมภาษณ์โดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิธีวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า ผู้ให้ข้อมูลให้ความหมายการจัดบริการฝากครรภ์ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใน 4 ประเด็น คือ 1) การให้บริการแบบเบ็ดเตล็ดเช่นเดียวกับโรงพยาบาล 2) การจัดบริการเชิงรุก 3) การเป็นที่ปรึกษาตลอดเวลา 4) การมีส่วนร่วมจัดบริการกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนการจัดบริการฝากครรภ์ทั้งในชุมชนและคลินิกฝากครรภ์ พบว่าทุกพื้นที่ไม่มีความแตกต่างกัน โดยมีการค้นหาและแนะนำหญิงตั้งครรภ์ในเขตรับผิดชอบ ให้มาฝากครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์ แต่ยังไม่มีการจัดโดยให้ชุมนมีส่วนร่วมและมีการจัดตามมาตรฐานคุณภาพคลินิกฝากครรภ์มีเพียง 1 แห่ง ที่จัดได้สมบูรณ์ตามนโยบายระดับจังหวัด คือ การเจาะเลือดส่งตรวจ การตรวจทางทันตกรรม และการพบแพทย์อย่างน้อย 1 ครั้ง และโรงเรียนพ่อแม่ รวมถึงการดูแลหลังคลอดภายใต้การทำงานแบบเครือข่ายหน่วยบริการสุขภาพสาธารณสุข โรงพยาบาลแม่ข่าย และ อสม. ในพื้นที่มีเพียง 1 แห่ง ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมด้วย ปัจจัยส่งเสริมการจัดบริการ คือผู้ให้บริการที่มีความมุ่งมั่นที่จะให้ผู้รับบริการได้รับบริการใกล้บ้านและมุ่งพัฒนาความรู้ของตนเอง ความร่วมมือของบุคลากรในหน่วยงาน วิสัยทัศน์ของผู้นำ การมีพยาบาลวิชาชีพให้บริการ การมี อสม. ร่วมให้บริการ การมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยได้มาตรฐานเพียงพอ นโยบายการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลระดับจังหวัดที่ชัดเจน และเงินค่าป่วยการสำหรับ อสม. ในการทำงานในชุมชน สำหรับปัญหาการจัดบริการคือ ขาดงบประมาณสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่มีห้องฝากครรภ์ และไม่มีการจัดการระบบส่งเลือดไปตรวจที่โรงพยาบาลแม่ข่ายที่ชัดเจน
ข้อเสนอแนะในการจัดบริการฝากครรภ์ ควรเป็นการจัดบริการภายใต้การทำงานแบบเครือข่าย หน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ โดยมุ่งเน้นการป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และการจัดตั้งชมรมส่งเสริมสุขภาพอนามัยแม่และเด็ก ตลอดจนการบริการฝากครรภ์ที่บ้านในหญิงที่มีการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ (สุรพงศ์ เอียดช่วย, 2554)