การศึกษาเรื่องนี้มีจุดประสงค์ของการวิจัย เพื่อบรรยายและอธิบายปรากฏการณ์การดำเนินชีวิต การดูแลตนเอง และปัจจัยเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการดูแลตนเองตามการรับรู้ ตามสถานการณ์จริงของหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ เอช ไอ วี ทำการศึกษาหญิงตั้งครรภ์ที่รับรู้ว่าตนเองติดเชื่อ เอช ไอ วี ที่มาฝากครรภ์ ที่แผนกฝากครรภ์ โรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ จำนวน 14 ราย ในระหว่างเดือนเมษายน-ตุลาคม พ.ศ. 2538 เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก การสังเกต และการบันทึกภาคสนาม ทำการเก็บข้อมูลที่โรงพยาบาล และไปเยี่ยมที่บ้านในรายที่กรณีศึกษาอนุญาตให้ไปได้
วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยวิธีการสร้างข้อสรุปแบบอุปมัย ซึ่งประกอบด้วยการทำดัชนีข้อมูล การจัดกลุ่มข้อมูล การสร้างข้อสรุปและการพิสูจนข้อสรุป
ผลการศึกษาพบว่าปรากฏการณ์ของการดำเนินชีวิตอยู่อย่างหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอช ไอ วี ไม่แน่ในว่าติดเชื้อ นึกถึงความตายและเป็นห่วงลูก แต่ในที่สุดยอมรับว่าติดเชื้อ ความรู้สึกในระยะต่อมา หลังจากรับรู้ว่าติดเชื้อแล้ว กรณีศึกษาตกอยู่ภาวะความกลัวและเป็นทุกข์ใจ สิ่งที่กรณีศึกษากลัวคือ กลัวสังคมรังเกียจ กลัวภาวะติเชื้อจะถูกเปิดเผย กลัวแพร่เชื้อไปยังบุคคลใกล้ชิด กลัวอันตรายจากความรุนแรงและความไม่แน่นอนของโรคและมีความทุกข์กันเกิดจากการขาดความมั่นคงในชีวิต ปรากฏการณ์ในการดำเนินชีวิตทั่วๆ ไป ของหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ ทั้งด้านหน้าที่การงาน กิจวัตรประจำวัน และปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากก่อนที่ติดเชื้อ แต่พบว่าสัมพันธภาพกับสามีกลับดีขึ้น
การดูแลตนเองหลังการรับรู้ว่าติดเชื้อ มีการดูแลตนเองให้มีสุขภาพดี จะได้มีชีวิตอยู่เพื่อเป็นที่พึ่งของลูก โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และป้องกันการรับเชื้อเพิ่มจากสามี แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ากรณีศึกษา ได้ให้ความสนใจในการแสวงหาความรู้ในการดูแลตนเองน้อยมาก
มีการดูแลตนเองทางด้านจิตสังคมโดยปรับสภาพจิตอารมณ์ให้คลายทุกข์ โดยใช้แนวทางศาสนา เรื่องกฎแห่งกรรม และสัจธรรมชองชีวิตที่ทุกคนจะหลีกหนีความตายไม่พ้น มาเป็นสิ่งปลอบใจ และการไม่ปล่อยให้มีเวลาว่าง กรณีศึกษาดำรงสถานภาพทางสังคมไว้ให้ได้โดยการปกปิดการติดเชื้อ ไม่ใช้ผู้อื่นรู้และมีการวางแผนในอนาคต โดยการจัดเตรียมด้านการเงินและที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการดูแลตนเองของหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ การที่ตระหนักว่าตนเองเป็นคนที่มีคุณค่าเป็นที่พึ่งของลูก ระดับการศึกษา เศรษฐานะ แรงสนับสนุนทางสังคม ระดับชั้นในสังคม สถานภาพการสมรส ชนิดของครอบครัว และฐานอำนาจในครอบครัว