ได้รับทุนการอุดหนุนการวิจัยจากเงินรายได้มหาวิทยาลัยประเภททั่วไป ประจำปีงบประมาณ 2552
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย เพื่อศึกษาระดับความรู้และระดับความต้องการการให้บริการคลอดวิถีธรรมชาติ ของพยาบาลผดุงครรภ์ในภาคใต้ และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความรู้และความต้องการให้บริการคลอดวิถีธรรมชาติของพยาบาลผดุงครรภ์ในภาคใต้ กลุ่มตัวอย่างคือพยาบาลผดุงครรภ์ในพื้นที่ 14 จังหวัด จำนวน 300 คน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามความรู้เกี่ยวกับการคลอดวิถีธรรมชาติ และความต้องการการใช้บริการคลอดวิถีธรรมชาติ ได้ค่าความเที่ยงของแบบสอบถามเท่ากับ .74 และ .81 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและสถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน
ผลการวิจัยพบว่าพยาบาลผดุงครรภ์มีค่าเฉลี่ยคะแนนความรู้เกี่ยวกับการตลอดวิถีธรรมชาติโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด สำหรับค่าเฉลี่ยคะแนนความรู้เกี่ยวกับการคลอดด้วยวิถีธรรมชาติรายด้าน พบว่ามีด้านที่มีค่าเฉลี่ยในระดับมากที่สุด 4 ด้าน คือ 1) ด้านการดูแลอย่างมีมนุษยธรรม คือการดูแลด้านจิตใจ อารมณ์และสังคม ด้านการบรรเทาความเจ็บปวดโดยไม่ใช้ยา และการงบกิจกรรมทางการแพทย์ที่ทำแบบกิจวัตร 2) ด้านความต้องการการให้บริการตลอดวิถีธรรมชาติ พยาบาลผดุงครรภ์มีค่าเฉลี่ยคะแนนความต้องการให้บริการตลอดวิถีธรรมชาติโดยรวมในระดับมาก สำหรับในรายด้าน เรียงตามลำดับได้ดังนี้ ด้านการดูแลจิตใจ อารมณ์และสังคม ด้านการดูแลอย่างมีมนุษยธรรม และการบรรเทาความเจ็บปวดโดยไม่ใช้ยา ในด้านความสัมพันธ์พบว่าคะแนนความรู้และความต้องการให้บริการคลอดวิถีธรรมชาติของพยาบาลผดุงครรภ์โดยรวมมีความสัมพันธ์เชิงบวก ในระดับปานกลาง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ .058
ผลการวิจัยครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้บริหารโรงพยาบาลและผู้เกี่ยวข้อง ในการกำหนดนโยบายการให้บริการคลอดวิถีธรรมชาติในภาคใต้ เนื่องจากพยาบาลผดุงครรภ์มีความรู้เกี่ยวกับการคลอดด้วยวิถีธรรมชาติในระดับมากที่สุดและมีความต้องการการให้บริการคลอดวิถีธรรมชาติในระดับมาก (สุรีย์พร กฤษเจริญ, ทรงพล จันทรพัฒน์, กัญจนี พลอินทร์, และ ปราณี พงศ์ไพบูลย์, 2553)