องค์ความรู้ด้านผู้หญิงภาคใต้

ชื่อเรื่อง
ประสบการณ์การดูแลตนเองหลังคลอดของหญิงมุสลิมที่คลอดกับผดุงครรภ์โบราณ
บทคัดย่อ
การศึกษาเชิงคุณภาพแบบปรากฏการณ์วิทยาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรยายและอธิบายประสบการณ์การดูแลตนเองหลังคลอด และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์การดูแลตนเองหลังคลอดของหญิงมุสลิมที่คลอดกับผดุงครรภ์โบราณ ผู้ให้ข้อมูลเป็นหญิงหลังคลอดมุสลิมที่คลอดกับผดุงครรภ์โบราณในพื้นที่หมู่บ้านหนึ่งของจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งคัดเลือกผู้ให้ข้อมูลแบบเฉพาะเจาะจงตามคุณสมบัติทำกำหนดไว้จำนวน 10 ราย เก็บข้อมูลระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. 2540 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2541 ด้วยการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม การสัมภาษณ์เจาะลึก การบันทึกภาคสนาม และการบันทึกเทปและวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการสร้างข้อสรุปแบบอุปนัยโดยดัดแปลงขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อมูลของโคไลซ์ซี่
 
ผลการศึกษาสรุปได้ว่า การให้ความหมายระยะหลังคลอด หญิงหลังคลอดให้ความหมายไว้ 2 ลักษณะ คือ เป็นช่วงเวลาหลังคลอด 40 วัน ไม่ว่าจะเป็นการคลอดครั้งแรกหรือครั้งหลัง และเป็นภาวะเจ็บป่วยสำหรับเป้าหมายและพฤติกรรมการดูแลตนเองในระยะหลังคลอดมี 2 ลักษณะ คือ 1) การทำให้มดลูกเข้าที่โดยวิธีการอยู่ไฟ ใส่ก้อนเส้า การนวดคัดท้อง การกินยาสมุนไพรรากไม้ และไม่ใส่ผ้าอนามัย  2) การทำให้ชีวีแข็งแรง โดยวิธีการดื่มน้ำร้อน กินอาหารร้อน อาบน้ำร้อน กินยาน้ำโสม พักกาย (นอนพัก) ทำใจให้สบาย และงดทำงานหนัก งดอาหารแสลง และงดร่วมเพศ โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการดูแลตนเองระยะหลังคลอด 3 ปัจจัย คือ  1) ปัจจัยพื้นฐาน ได้แก่ ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง ประสบการณ์การคลอดบุตรและการสนับสนุนทางสังคม 2) ครอบครัว 3) ความเชื่อทางวัฒนธรรมและศาสนา
 
ผลการศึกษาครั้งนี้ สามารถให้แนวทางในการส่งเสริมความสามารถในการดูแลตนเองของหญิงหลังคลอดมุสลิมให้เหมาะสม สอดคล้องตามสังคมวัฒนธรรม และถูกต้องตามหลักวิชาการทางการแพทย์ในปัจจุบัน และเป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการเรียนการสอนพยาบาลอนามัยชุมชนในงานอนามัยแม่และเด็ก
ผู้เขียน
อารีรัตน์  สิริวณิชชัย
ปี
2542
ด้าน
ด้านสุขภาพแม่และเด็ก
  • สุขภาพและการดูแลหลังคลอด
ประเภท
วิทยานิพนธ์
หน่วยงาน
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์