องค์ความรู้ด้านผู้หญิงภาคใต้

ชื่อเรื่อง
ประสบการณ์การได้รับการดูแลในระยะคลอดของหญิงมุสลิมที่คลอดกับผดุงครรภ์โบราณ
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพแบบปรากฏการณ์วิทยา มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรยาย และอธิบายถึงประสบการณ์ได้รับการดูแลในระยะคลอดของหญิงมุสลิม ที่คลอดกับผดุงครรภ์โบราณ ผู้ให้ข้อมูลเป็นหญิงมุสลิมในพื้นที่แห่งหนึ่งของจังหวัดปัตตานี คัดเลือกคุณสมบัติผู้ให้ข้อมูลจากประชากรเป้าหมายโดยวิธีการสุ่มแบบมีมิติตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้จำนวน 12 ราย เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกตามแบบสัมภาษณ์ที่สร้างขึ้น การบันทึกเทป การจัดบันทึกภาคสนามเป็นเวลา  6 เดือน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการตีความและสร้างข้อสรุปแบบอุปมนัย โดยใช้ขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อมูลของโคไลซี่  ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้ การให้ความหมายการดูแลระยะคลอดที่ได้รับจากผดุงครรภ์โบราณ ผู้ให้ข้อมูลให้ความหมายการดูแลเปรียบเสมือน แม่ดูแลลูก โดยการดูแลที่หญิงมุสลิมได้รับการผดุงครรภ์โบราณในระยะคลอด แบ่งเป็น 4 ระยะ ที่ 1 ประกอบด้วย 1) การสำรวจร่างกายด้วยการ คลำท้อง ตรวจภายในและดูช่องคลอด 2) การคลายปวดด้วยการพูดปลอบใจ และนวดตัว ลูบท้อง  3) การเตรียมความพร้อมด้านร่างกายด้วยการแต่งท้อง ผูกท้องจัดท่าคลอด ทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธ์ภายนอก งดน้ำงดอาหาร ดูแลขับถ่ายและ 4) สร้างกำลังใจด้วยการว่าคาถา ให้ญาติอยู่ด้วย และให้กินน้ำมนต์  การดูแลระยะที่ 2 ประกอบด้วย สอนวิธีเบ่ง ดันท้อง ว่าคาถา กดฝีเย็บ การดูแลระยะที่ 2 ประกอบด้วย คลึงมดลูก กดท้องน้อย และ ว่าคาถาให้กินน้ำมนต์ และการดูแลระยะที่ 4 ประกอบด้วยการดูแลลูก ได้แก่ กระตุ้นลูกร้อง ตัดสายสะดือ อาบน้ำให้ลูก และขอพรพระเจ้าให้ลูก และการดูแลแม่ ได้แก่ นวดร่างกาย อาบน้ำสมุนไพร่ สำหรับความรู้สึกของหญิงมุสลิมต่อการได้รับการดูแลในระยะคลอดจากผดุงครรภ์โบรณเป็นไปใน 3  ลักษณะคือ 1) อบอุ่นใจ  2) ดีใจ ภูมิใจและ 3) พอใจ ประทับใจ
ผู้เขียน
วรรณา บัวขาว
ปี
2546
ด้าน
ด้านสุขภาพแม่และเด็ก
  • สุขภาพระยะการคลอด
ประเภท
วิทยานิพนธ์
หน่วยงาน
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์