การวิจัยปัจจัยที่มีผลต่อการให้บริการดูแลหลังคลอดของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ระดับตำบล เขต 12 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา
1) ระดับการให้บริการดูแลหลังคลอดของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับตำบลเขต 12
2) ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยทางสังคมจิตวิทยา และปัจจัยการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เขต 12
3) ปัจจัยที่สามารถพยากรณ์ผลกาให้บริการดูแลหลังคลอดของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ระดับตำบล เขต 12
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยนี้เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับตำบล เขต 12 จำนวน 258 คน ซึ่งสุ่มจากประชากรจำนวน 720 คน โดยใช้วิธีสุ่มแบบหลายขั้นตอน (Multistage Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือแบบสอบถาม สถิติที่ใช้การวิเคราะห์ข้อมูล คือร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสัมประสิทธิ์สัมพันธ์ของเพียร์สัน และการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ
ผลการวิจัยพบว่า
1) การให้บริการดูแลหลังคลอดของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับตำบลเขต 12 อยู่ในระดับดี
2) ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับผลการให้บริการดูแหลังคลอดของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับตำบล เขต 12 ได้แก่ ประสบการณ์ในการทำงาน มีความสัมพันธ์เชิงนิเสธกับผล การให้บริการดูแลหลังคลอดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 การรับรู้บทบาทและความพร้อมด้านวัสดุอุปกรณ์ มีความสัมพันธ์เชิงนิมานกับผลการให้บริการดูแลหลังคลอด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3) ปัจจัยที่มีผลต่อการให้บริการดูแลหลังคลอดของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับตำบลเขต 12 ได้แก่ การรับรู้บทบาท (J) ความพร้อมด้านวัสดุอุปกรณ์ (P) เป็นปัจจัยเชิงนิมาน ประสบการณ์ในการทำงาน (ExP) เป็นปัจจัยเชิงนิเสธ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 มีอำนาจทำนายร้อยละ 7.51 และได้รับสมการพยากรณ์ในรูปคะแนนดิบดังนี้ Y’=26.9478+.3390J+1.3576P-.2091 Exp
จากผลการวิจัยนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ สถานีอนามัย ควรได้สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการให้บริการดูแลหลังคลอดอย่างเพียงพอ และพัฒนาบุคลากรให้มีการรับรู้บทบาท มีความรู้เกี่ยวกับกิจกรรมการให้บริการดูแลหลังคลอด อย่างถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อคุณภาพงานที่ดีของการให้บริการดูแลหลังคลอดของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข