เป็นการศึกษาปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและการแพทย์ ที่มีอิทธิพลต่อการใช้บริการทำคลอดแบบพื้นบ้านและแบบสมัยใหม่ของมารดาไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการเก็บข้อมูลมารดามีบุตรคนสุดท้ายอายุไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน จากตำบลบาโงย ตำบลยะหา ตำบลปะแต อำเภอยะหาจังหวัดยะลา ผลการวิจัยพบว่า ประชากรตัวอย่างคลอดบุตรคนสุดท้ายด้วยวิธีทำคลอดแบพื้นบ้านมากกว่าแบบสมัยใหม่ ส่วนปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการใช้บริการทำคลอดแบบพื้นบ้านและแบบสมัยใหม่ได้แก่ระยะทางจากที่อยู่ถึงแหล่งบริการมีอิทธิพลมากที่สุด อาจจะเป็นไปได้ว่าบริการทำคลอดของรัฐยังกระจายไม่ทั่วถึงแม้ว่ารัฐจะจะให้มีสถานีอนามัยทุกตำบล และมีโรงพยาบาลครบทุกอำเภอแล้วก็ตาม ซึ่งพบว่าประชากรที่อยู่ในตำบลที่ตั้งของสถานีอนามัยใช้บริการทำคลอดแบบสมัยใหม่มากกว่าตำบลที่อยู่ห่างไกลออกไป
รองลงมาคือ ความสามารถในการพูดด้วยภาษาไทย อาจจะเป็นไปได้ว่าบุคคลทางการแพทย์และสาธารณสุขนั้นเป็นข้าราชการ ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลักในการติดต่อสื่อสารในสถานที่ราชการ ในขณะที่ประชาชนในชนบทใช้ภาษามลายู มีความยากลำบากในการติดต่อสื่อสาร ซึ่งจะนำไปสู่การไม่เข้าใจกันได้ ทำให้ประชากรลังเลที่จะไปรับบริการทำคลอดแบบสมัยใหม่
รายได้ของครอบครัว ผู้ใช้บริการคลอดแบบพื้นบ้านมีรายได้ในครอบครัวต่ำเป็นส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำให้ไม่สามารถบริการทำคลอดแบบสมัยใหม่ที่มีราคาแพงกว่าได้ รวมไปถึงค่าพาหนะ ค่าบริการ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของผู้คลอดและญาติที่ไปเยี่ยม
ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เนื่องจากแหล่งบริการของรัฐอยู่ไกล ถ้าจะใช้บริการต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูง จึงหันไปใช้บริการการคลอดแบบพื้นบ้านแทน ในการวิจัยครั้งนี้พบว่า ครอบครัวที่มีรถยนต์หรือมีเงินพอที่จะจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์หรือค่าเช่ารถยนต์ มีแนวโน้มที่จะใช้บริการทำคลอดแบบสมัยใหม่มากกว่า
ความรู้เกี่ยวกับการใช้บริการทำคลอด มักเข้าในผิดว่าถ้าไม่ได้ฝากท้องกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะต้องคลอดกับหมอตำแยเท่านั้น
ความเชื่อถือในประสิทธิภาพการทำคลอด ช่องว่างทางสังคม ขนาดที่ดินทำกินของตัวเอง จำนวนสมาชิกในครอบครัวที่มีรายได้ ตามลำดับ ตัวแปรเหล่านี้สามารถทำนายการเลือกการใช้บริการทำคลอดแบบพื้นบ้านและแบบสมัยใหม่ได้ถูกต้องถึงร้อยละ 90.63