องค์ความรู้ด้านผู้หญิงภาคใต้

ชื่อเรื่อง
รูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพสตรีตั้งครรภ์ด้วยโยคะ
บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงปฏิบัติการระดับเทคนิค (technical action research)  ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพสตรีตั้งครรภ์ด้วยโยคะ เปรียบเทียบการรับรู้ภาวะสุขภาพ  และความพึงพอใจของกลุ่มตัวอย่างหลังปฏิบัติตามรูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพสตรีตั้งครรภ์ด้วยโยคะ และศึกษาปัญหา อุปสรรคในการใช้รูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพสตรีตั้งครรภ์ด้วยโยคะ กลุ่มตัวอย่างเป็นสตรีตั้งครรภ์จำนวน 15 คน  คัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง กระบวนการวิจัยอาศัยความร่วมมือระหว่างผู้วิจัย สตรีตั้งครรภ์และครอบครัวตั้งแต่เดือนมีนาคม 2550-ธันวาคม 2551 การเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพโดยใช้การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก การสังเกตการแบบมีส่วนร่วม และบันทึกภาคสนาม  ส่วนข้อมูลเชิงปริมาณใช้แบบสอบถามการรับรู้ภาวะสุภาพสตรีตั้งครรภ์ และแบบสอบถามความพึงพอใจต่อการปฏิบัติตามรูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพสตรีตั้งครรภ์ด้วยโยคะ  วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการตีความ สรุปประเด็นและสร้างรูปแบบ และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้สถิติแจกแจงความถี่ได้แก่ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและ  ค่าสถิติทีคู่
 
ผลการวิจัยพบว่ารูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพสตรีตั้งครรภ์ด้วยโยคะประกอบด้วย 1) กระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพสตรีตั้งครรภ์ 2) การส่งเสริมความสามารถในการสร้างเสริมสุขภาพ 3) ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสร้างเสริมสุขภาพ 4) ความสามารถของสตรีในการสร้างเสริมสุขภาพและ 5) ผลลัพธ์ของการสร้างเสริมสุขภาพ กระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพตั้งครรภ์ด้วยโยคะมี 4 ระยะคือ “เปิดใจรับกับโยคะเพื่อชีวิตใหม่”  “ค้นหาความลงตัวของโยคะกับชีวิตคน” “มั่นใจว่ามาถูกทาง” และ “ปฏิบัติต่อเนื่องจนคลอด” การสร้างเสริมความสามารถในการสร้างเสริมสุขภาพให้กลุ่มตัวอย่าง คือ สร้างการยอมรับและความไว้วางใจ การมีส่วนร่วม การสร้างเสริมพลังอำนาจ ทำกลุ่มสะท้อนคิด พิจารณาเป็นเพื่อนรับฟัง ให้ลูกเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงทางใจ โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องคือความปรารถนาจะมีลูก แรงสนับสนุนจากครอบครัว การช่วยเหลือในกลุ่มที่ฝึกร่วมกัน การรับรู้ประโยชน์และคำชมเชย การตรวจจากแพทย์ อุปสรรคจากการใช้รูปแบบนี้คือ การสื่อสารสิ่งที่เป็นนามธรรมในองค์ความรู้ของโยคะ ผลการวิจัยยังพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีค่าคะแนนเฉลี่ยการรับรู้ภาวะสุขภาพหลังปฏิบัติตามรูปแบบการสร้างเสริมสุขภพโดยโยคะทั้งโดยรวมและรายด้านแตกต่างกัน มีค่าคะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจก่อนและหลังปฏิบัติตามรูปแบบสร้างเสริมสุขภาพด้วยโยคะที่แตกต่างกัน
ผู้เขียน
เยาวเรศ สมทรัพย์ โสเพ็ญ ชูนวล ธารางรัตน์ หาญประเสริฐพงษ์ และ ฝนทอง องค์พลานุพัฒน์
ปี
2552
ด้าน
ด้านสุขภาพแม่และเด็ก
  • สุขภาพระยะตั้งครรภ์
ประเภท
งานวิจัย
หน่วยงาน
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์