มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อให้มารดาได้รับความรู้ เจตคติและการปฏิบัติตนขณะตั้งครรภ์ คลอด และเลี้ยงดูบุตรได้อย่างถูกต้อง 2) เพื่อกระตุ้นให้มารดาได้ตระหนักและเห็นความสำคัญในด้านสุขภาพครอบครัวและชุมชน 3) เพื่อให้มารดานำบุตรไปรับวัคซีนครบถ้วนตามกำหนดอย่างสม่ำเสมอ 4) เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยของมารดาและทารก และ 5) เพื่อประสานงานกับองค์กรชุมชนและสถานีอนามัยร่วมมือกันให้สุขศึกษาแก่มารดาและหญิงตั้งครรภ์อย่างต่อเนื่อง พื้นที่ในการศึกษาคือ บ้านตันหยงเปาว์ บ้านบางตาวา อำเภอหนองจิก บ้านปาตาบูดี บ้านดาโต๊ะ อำเภอยะหริ่ง บ้านปาเระ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
ผลการปฏิบัติตามโครงการ คือ มารดาเห็นและให้ความสำคัญกับสุขภาพตนเองและคนในครอบครัวมากขึ้น มารดาส่วนใหญ่จะไปฝากครรภ์ที่สถานีอนามัยใกล้บ้าน รับประทานอาหารตามปกติ ทำงานน้อยลงและพักผ่อนมากขึ้น เรียนรู้การปฏิบัติตนขณะตั้งครรภ์จากเจ้าหน้าที่อนามัย และเพื่อนบ้าน เป็นต้น เมื่อถึงกำหนดคลอดมารดาส่วนใหญ่จะคลอดบุตรที่บ้านโดยผดุงครรภ์โบราณช่วยทำคลอด ทำพิธีอาซานหรือการให้พรแก่ทารกแรกเกิดจากพระผู้เป็นเจ้า ใช้นมแม่ของตนเองเลี้ยงและนำบุตรไปรับวัคซีน ป้องกันโรค เมื่อบุตรอายุ 3 เดือนจะให้อาหารเสริม ซึ่งเป็นการให้อาหารเสริมเด็กก่อนวัยอันควร (เด็กอายุ 4 เดือน) นอกจากนี้ ยังมีมารดาส่วนน้อยงดอาหารแสลงในขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด ความเชื่อที่ได้รับจากบรรพบุรุษ และมารดาบางคนยังไม่ป้องกันการตั้งครรภ์ ด้วยคิดว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้องตามหลักศาสนาและเป็นบาป
ส่วนสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นอาคารแบบถาวรเรือนไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูงมีใต้ถุนบ้าน บ้านเรือนใช้น้ำใต้ดินสูบขึ้นมาเก็บไว้ในถังสูงแล้วจ่ายน้ำไม่ได้ใส่ปูนคลอรีน บ้านเรือนส่วนใหญ่ทิ้งขยะมูลฝอยกองไว้บ้างก็ทิ้งกลาดเกลื่อนทั่วไป พร้อมกับเลี้ยงสัตว์ เช่น เป็ด ไก่ แพะ แกะ เป็นต้น ปล่อยไว้บริเวณบ้าน บ้านเรือนที่ยังไม่มีส้วมใช้ถ่ายอุจจาระตามชายป่าข้างบ้าน หรือไม่ก็ถ่ายลงลำคลอง เป็นแหล่งเพาะพันธ์พาหะนำโรค คนในบ้านมักป่วยด้วยโรคติดต่อและอุบัติเหตุ การรักษาพยาบาล เมื่อมีคนเจ็บมารดาจะซื้อยามาให้ผู้ป่วยรับประทาน นอนดูอาการก่อน 2-3 วัน ถ้าผู้ป่วยมีอาการไม่ดีขึ้น จะนำส่งไปที่สถานบริการสุขภาพ ในกรณีเกิดอุบัติเหตุกระดูกหัก จะให้หมอบ้านรักษากระดูก ไม่ทราบว่า ไอกรน คอตีบ บาดทะยัก และวัณโรค เป็นโรคติดต่อในเด็ก ทั้งๆ ที่มารดาได้นำบุตรไปรับวัคซีนป้องกันโรคที่สถานอนามัย