หนังสือ “ลีลาปาเต๊ะ พลังหญิง พลังชุมชน” ซึ่งเป็นตำราจาก “โรงเรียนชาวบ้าน” นั้น สร้างขึ้นจากการยอมรับศักยภาพสตรีไทยและมุ่งที่จะส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของสตรี หนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมและถ่ายทอดกระบวนการฝึกอบรมสตรีที่โรงเรียนแห่งหนึ่งได้จัดการสอนมาแล้วระยะหนึ่ง สิ่งที่น่าสนใจในกระบวนการนี้ คือ ลักษณะที่เริ่มจากข้างล่าง (Bottom-up approach) โดยให้ผู้เข้าอบรมบอกว่าอยากเรียนรู้อะไร แล้วแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันแลละกัน ผมคิดว่าการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เป็นหัวใจของการอบรม โดยโรงเรียนชาวบ้าน ผู้เข้าอบรมเรียนรู้จากประสบการณ์ชองผู้สอน ซึ่งมิใช่ผู้สอนในความหมายของผู้บรรยาย หากเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้เข้าอบรมกับนักจัดระบบชุมชนหรือพี่เลี้ยง นักจัดระบบชุมชนเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันดี เช่น จำนงค์ จิตรนิรัตน์ พิชยา แก้วขาว รุ่งทิพย์ อิ่มรุ่งเรือง และปรีดา คงแป้น ผู้มีประสบการณ์ความสำเร็จในการจัดระบบชุมชนในหลายพื้นที่ในประเทศไทย นอกจากนักจัดระบบชุมชนเหล่านี้แล้วยังมีผู้นำชุมชนที่ประสบความสำเร็จในงานสร้างความเข้มแข้งของชุมชน เช่น นางใจดี สว่างอารมณ์ แห่งชุมชนเก้าเส้ง นางทัศนา นาเวศน์ แห่งชุมชนบ้านทับยาง และคนอื่นๆ มาถ่ายทดประสบการณ์ด้วย (อคิน รพีพัฒน์, 2553)