องค์ความรู้ด้านผู้หญิงภาคใต้

ชื่อเรื่อง
บทบาทของสตรีกับการพัฒนา: กรณีศึกษาจังหวัดปัตตานี
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาถึงบทบาทของสตรีกับการพัฒนาสังคม 2) เพื่อส่งเสริมบทบาทของสตรีกับการพัฒนาสังคม และ 3) เพื่อนำผลของการศึกษาไปประยุกต์ใช้กับงานพัฒนาสังคมของประเทศทั้งในด้านการพัฒนาและงานด้านวิชาการโดยเน้นในการร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมกระทำและร่วมประเมินผลในโครงการต่างๆ ด้านการศึกษา ด้านสุขภาพอนามัย ด้านการพัฒนาชุมชน และด้านกิจกรรมทางสังคมอื่นๆ ซึ่งในโครงการในด้านต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว คือบริบทของการพัฒนาสังคมโดยทั่วไป
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาคือสตรีที่มีอายุระหว่าง 18-60 ปี และตั้งบ้านเรือนในชนบทในเขตจังหวัดปัตตานี จำนวน 400 คน โดยจำแนกเป็นสตรีชาวไทยพุทธ บ้านลานควาย ตำบลกอลำ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี จำนวน 146 คน และสตรีชาวไทยมุสลิมบ้านสามยอกตำบลโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี จำนวน 254 คน ซึ่งมาจากการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์ที่สร้างขึ้นมาเองจำนวน 3 ตอน คือ ส่วนข้อมูลส่วนตัว ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทสตรีกับการพัฒนาสังคม และส่วนที่เป็นการแสดงความคิดเห็นทั่วไปด้านบทบาทของสตรีกับการพัฒนาสังคม

ผลการวิจัย พบว่า
      1. สตรีมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาสังคมในระดับที่น้อยเป็นจำนวนมาก และเมื่อพิจารณาโอกาสที่จะแสดงบทบาทเกี่ยวกับการพัฒนาสังคมก็มีน้อยเช่นเดียวกัน
      2. สตรีมีความคิดเห็นว่า มีโอกาสร่วมคิด ร่วมตัดสินใน ร่วมกระทำและร่วมประเมินผลเกี่ยวกับการพัฒนาสังคมในกิจกรรมด้านการศึกษา ด้านสุขภาพอนามัย และกิจกรรมทางสังคมอื่นๆ ในชุมชนตนเองในระดับน้อย
      3. สตรีมีความคิดเห็นว่ามีส่วนร่วม ร่วมตัดสินใจ ร่วมกระทำ และร่วมประเมินผลเกี่ยวกับการพัฒนาสังคมในกิจกรรมการพัฒนาชุมชนตนเองในระดับมากและระดับปานกลางเป็นจำนวนมาก แต่ร่วมประเมินผลโครงการอยู่ในระดับน้อย
      4. แนวทางการส่งเสริมบทบาทของสตรีในการพัฒนาสังคม ควรเน้นให้การฝึกอบรมแก่สตรีให้มีความรู้มากยิ่งขึ้น และควรจัดกิจกรรมต่างๆ ในสตรีได้มีโอกาสเข้าร่วมมากยิ่งขึ้น
      5. ด้านความเชื่อด้านศาสนาและศาสนาปฏิบัติ มิได้เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมบทบาทของสตรีในการพัฒนาสังคมแต่อย่างใด
ผู้เขียน
สุทธิพงศ์ พรหมไพจิตร
ปี
2541
ด้าน
ด้านบทบาท สถานภาพ และการมีส่วนร่วม
  • บทบาทและการมีส่วนร่วมในการพัฒนา
ประเภท
งานวิจัย
หน่วยงาน
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์