องค์ความรู้ด้านผู้หญิงภาคใต้

ชื่อเรื่อง
บทบาทของ “เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้” ในการจัดสานเสวนาเพื่อสร้างสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา กระบวนการและขั้นตอนการจัดสานเสวนาของเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ รวมทั้งทำความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทในการจัดสานเสวนาข้ามกลุ่มเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และตำแหน่งแห่งที่ ขององค์กรดังกล่าว ภายใต้บริบทความขัดแย้งและความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่เห็นริมกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้การรวบรวมข้อมูลเอกสาร การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก การสัมภาษณ์กลุ่ม และการสังเกตการณ์แบบไม่มีส่วนร่วมในสามพื้นที่ ได้แก่ ชุมชนบ้านพ่อมิ่ง จังหวัดปัตตานี ชุมชนยุโป จังหวัดยะลา และชุมชนกูจิง ลือปะ จังหวัดนราธิวาส
 
ผลการศึกษา พบว่า กระบวนการขั้นตอนการสานเสวนาของเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ มีความคล้ายคลึงกันทั้ง 3 พื้นที่ การสร้างเครือข่ายโดยเจ้าไปประสานงานกับผู้คนต่างๆ อาทิเช่น แกนนำผู้หญิง ผู้นำชุมชน ผู้นำระดับจังหวัด ในขณะเดียวกันก็มีการเพิ่มศักยภาพ โดยให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการเป็นวิทยากรกระบวนการสานเสวนาให้แก่ทีมงาน แกนนำผู้หญิงใน 3 พื้นที่กรณีศึกษา ส่วนรูปแบบการจัดกิจกรรมมีจัดสานเสวนาภายในกลุ่มก่อน (Intra-group Dialoge) และจัดสานเสวนาระหว่างกลุ่ม (Inter-group Dialogue) ซึ่งกระบวนการดังกล่าวแสดงเห็นว่าเป็นกระบวนการสานเสวนาที่เหมาะสม ประกอบด้วย 1) การรวมทุกฝ่ายเข้าด้วยกัน  2) สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน  3) เปิดพื้นที่การเรียนรู้    4) ให้เห็นความเป็นมนุษย์ และ 5) มีมุมมองในระยะยาว ส่วนบทบาทของเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม ในการจัดสานเสวนา ได้แก่ 1) บทบาทในการฝึกอบรมให้ความรู้การเป็นวิทยากรกระบวนการสานเสวนา   2) บทบาทในการเชื่อมประสานกับผู้เข้าร่วมทั้งที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบ ชาวบ้านทั้งไทยพุทธและมลายูมุสลิมและเจ้าหน้าที่รัฐ 4 ฝ่าย  3) บทบาทในการเอื้ออำนวยความสะดวก ในการจัดกระบวนการสานเสวนา และเอื้อความสะดวกให้เกิดการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและ 4) บทบาทในการสานเสวนานำไปสู่การสร้างสันติภาพในชุมชน ซึ่งผลการสานเสวนาดังกล่าวส่งผลให้ผู้เข้าร่วมเกิดการเปลี่ยนทัศนคติ พฤติกรรม อีกทั้งเกิดการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ใหม่อีกด้วย และบทบาทจองเครือข่ายผู้หญิงในการสร้างสันติภาพด้วยเครื่องมือสานเสวนา สอดคล้องกับหลักการของสารัตถะของการสร้างสันติภาพ ดังนี้  1) การสร้างสัมพันธภาพเชื่อมต่อกับกลุ่มคนที่หลากหาย 2) ใฝ่รู้อย่างย้อนแย้ง ประเมิน สถานการณ์ความขัดแย้ง  3) มีความคิดสร้างสรรค์ โดยเชื่อว่าสามารถเปลี่ยนพื้นที่ความขัดแย้ง สูง ซึ่งบทบาทดังกล่าวเป็นบทบาทในการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน การศึกษานี้แสดงให้ว่า การสร้างพื้นที่ให้เกิดการพูดคุยจำเป็นต้องจัดอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งขยายพื้นที่โดยการเพิ่มและสร้างศักยภาพให้มีคนกลางในการสานเสวนาให้มากขึ้น
ผู้เขียน
รอฮานี จือนารา
ปี
2560
ด้าน
ด้านผู้หญิงกับปัญหาชายแดนภาคใต้
  • การเคลื่อนไหวและกระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ
ประเภท
วิทยานิพนธ์
หน่วยงาน
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์