งานวิจัยเชิงคุณภาพนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) บริบทของชุมชนบ้านปากบางตาวา 2) บทบาทหญิงชายมุสลิมกับการจัดการทรัพยากรประมง และ 3) แสวงหาปัจจัย ภายในและภายนอกที่ส่งผลต่อการจัดการทรัพยากรประมง กลุ่มเป้าหมายมีทั้งหมด 17 คน คือ สามีภรรยาที่ประกอบอาชีพประมง 6 ครอบครัว จำนวน 12 คน ผู้นำที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ จำนวน 5 คน เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก การสนทนากลุ่ม และการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม แล้ววิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหาแบบพรรณนาความ
ผลการวิจัยพบว่าบ้านปากบางตาวาเป็นชุมชนประมง ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีการตั้งบ้านเรือนแบบกระจุกตัว พบว่าในปัจจุบันทรัพยากรทางทะเลมีจำนวนลดลง ป่าชายเลนถูกทำลาย มีโครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยความสะดวกแก่ชุมชนเพิ่มขึ้น ทำให้สมาชิกในครอบครัว ต่างปรับตัวและพยายามสร้างรายได้ด้วยการประกอบอาชีพเสริม
ด้านบทบาทหญิงชายมีการแบ่งงานกันทำโดยคำนึงถึง ประเภทของงานหนักงานเบา ตามความแตกต่างด้านสรีระ การครองเรือนยึดหลักการอิสลามที่ให้การช่วยเหลือระหว่างสามีภรรยา ทำให้พบว่าในปัจจุบันภรรยาจึงมีบทบาทเพิ่มขึ้น เช่น ต้องออกเรือไปกับสามี เพื่อเป็นผู้ช่วยในการใช้เครื่องมือประมง รวมทั้งเป็นผู้สื่อข่าวถึงญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน ในการช่วยเหลือกิจกรรมต่างๆ ในชุมชน สำหรับการมีส่วนร่วมในกิจกรรมประมงที่ส่งผลต่อการจัดการทรัพยากรประมง พบว่า ผู้ชายมีส่วนร่วมในการวางแผนและการปฏิบัติมากกว่าผู้หญิง และคิดว่าทั้งผู้หญิงผู้ชายมีส่วนร่วม ในการมีส่วนได้ส่วนเสียเท่าเทียมกันและไม่มีส่วนร่วมใน ด้านการประเมินผล
ปัจจัยภายในด้านผู้นำ และปัจจัยภายนอก ด้านหน่วยงานของรัฐ มีผลต่อจัดการทรัพยากรประมงของหญิงชายมุสลิมบ้านปากบางตาวา (จงรักษณ์ ศรีจันทร์งาม, 2557)