องค์ความรู้ด้านผู้หญิงภาคใต้

ชื่อเรื่อง
แรงงานหญิงในอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็ง จังหวัดสงขลา
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้ต้องการศึกษาภูมิหลัง สภาพการจ้าง สวัสดิการที่ได้รับ ปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงสวัสดิการเหล่านั้น ของแรงงานสตรีในอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็ง โดยเจาะจงเลือกศึกษาในโรงงานอุตสาหกรรม อาหารทะเลแช่แข็งขนาดใหญ่ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 500 คน ได้แก่ บริษัทห้องเย็นโชติวัฒน์หาดใหญ่ จำกัด(มหาชน) และบริษัททักษิณสมุทรจำกัด 
         
พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ (60%) จบชั้นประถมศึกษา มีอายุเฉลี่ย 27 ปี ร้อยละ 47 มีสถานภาพโสด มีสถานภาพแต่งงานแล้วร้อยละ 57  ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก สาเหตุที่พลิกผันชีวิตเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมคือความยากจนแร้นแค้นและรายได้ไม่สม่ำเสมอ อย่างไรก็ตามการเข้ามาแสวงหารายได้ขณะนี้ไม่อาจแก้ปัญหาความยากจนด้านเศรษฐกิจของครอบครัวได้เพียงแต่ช่วยบรรเทาเท่านั้น
          
แรงงานส่วนใหญ่มีภูมิลำเนามาจากต่างอำเภอหรือต่างจังหวัด จึงต้องเช่าที่พักอาศัยอยู่ในเทศบาลนครหาดใหญ่และบริเวณใกล้เคียง โดยจะเช่าอยู่รวมกันทั้งชายและหญิงประมาณ 8-9 คน เสียค่าเช่าบ้านหลังละ 2,000-4,000 บาทต่อเดือน หรือคนละประมาณ 300-500 บาทต่อเดือน หากรวมค่าน้ำค่าไฟด้วยจะตกประมาณคนละ 500-700 บาทต่อเดือน ภาระด้านเศรษฐกิจของครอบครัว แรงงานทั้งหมดบอกว่า รายได้ของตนเป็นรายได้หลักของครอบครัว และขณะนี้ไม่มีอาชีพเสริมอื่นๆ เลย แรงงานที่เป็นโสดส่วนใหญ่ต้องส่งเงินกลับบ้านให้บิดามารดาและส่งน้องเรียนหนังสือ ส่วนกลุ่มที่สมรสแล้วมักนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว
          
สำหรับการวางแผนอนาคต แรงงานส่วนใหญ่ (55%)  ตั้งใจลาออกตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป กลุ่มที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเองคิดว่าเมื่อออกไปแล้วจะประกอบอาชีพค้าขาย สำหรับกลุ่มที่มีพื้นที่ทำกินอยู่บ้างจะไปประกอบอาชีพในภาคการเกษตร แรงงานสตรีเหล่านี้ไม่ได้รู้สึกแร้นแค้นหรือสิ้นหวังกับความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่อยู่อาศัยของตนเอง เพียงแต่ขาดปัจจัยการผลิตด้านเงินในการประกอบอาชีพ หลายคนบอกว่าถ้ามีเงินก็จะไม่เข้ามาทำงานในโรงงานและหลังออกจากงานไปทำงานที่บ้านโดยไม่ต้องย้ายถิ่นไปในที่ห่างไกล
         
ในการทำงาน นายจ้างส่วนใหญ่ส่วนใหญ่ปฏิบัติไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้าง กล่าวคือลูกจ้างรายวันและรายชั่วโมงเมื่อมาทำงานในวันหยุดจะได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันธรรมดา  นายจ้างไม่สนับสนุนหรือส่งเสริมให้เรียนต่อ และยังอ้างอีกว่าจะส่งผลกระทบด้านลบต่อกระบวนการผลิต และไม่จัดฝึกอบรมเรื่องอื่นๆ นอกจากเรื่องงาน และไม่ได้ส่งคนงานไปฝึกอบรมกับหน่วยงานต่างๆ ภายนอก ส่วนกฎหมายคุ้มครองแรงงานเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพวกเขา ร้อยละ 85 ต้องการมีความรู้เรื่องกฎหมายคุ้มครองแรงงานและต้องการให้นายจ้างจัดฝึกอบรมให้
ผู้เขียน
ยุวดี จันทะศิริ
ปี
2546
ด้าน
ด้านผู้หญิงกับชีวิตสมัยใหม่
  • ภาคอุตสาหกรรม
ประเภท
งานวิจัย
หน่วยงาน
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)