องค์ความรู้ด้านผู้หญิงภาคใต้

ชื่อเรื่อง
คุณภาพชีวิตการทำงานของพนักงานหญิงในอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็ง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อระดับคุณภาพชีวิตการทำงานและเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตการทำงานของพนักงานหญิงในอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็ง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา จำแนกตามอายุ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา รายได้ต่อเดือน ตำแหน่งงาน ประสบการณ์ทำงาน ลักษณะการจ้างงานและระยะเวลาการเดินทางมาทำงาน กลุ่มตัวอย่างเป็นพนักงานหญิงในอุตสาหกรรมอาหารทะเล แช่แข็ง ในอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา 789 คน โดยใช้แบบสอบถามการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้างเป็นเครื่องมือ ในการเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว การเปรียบเทียบรายคู่ โดยวิธีการของเชฟเฟ่ โดยกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
          
ผลการศึกษาพบว่า ระดับคุณภาพชีวิตการทำงานของพนักงานหญิงโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง และเมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า คุณภาพชีวิตการทำงานของพนักงานหญิงมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลางทั้ง 8 ด้าน โดยสิ่งแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะและความปลอดภัยที่มี่เฉลี่ยสูงสุด ขณะที่ด้านความก้าวหน้าและความมั่นคงในงานมีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด ผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า พนักงานหญิงที่มีตำแหน่งงานและระยะเวลาเดินทางมาทำงานแตกต่างกัน มีคุณภาพชีวิตการทำงานแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05  อายุและลักษณะการจ้างงานแตกต่างกัน มีคุณภาพชีวิตการทำงานแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา รายได้ต่อเดือน ประสบการณ์การทำงานที่แตกต่างกัน มีคุณภาพการทำงานที่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .001
          
ผลการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง พบว่า พนักงานหญิงส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่าคุณภาพชีวิตการทำงานทั้ง 8 ด้าน มีความเหมาะสม (สุรัชดา เพชรสิทธิ์, 2555)
ผู้เขียน
สุรัชดา เพชรสิทธิ์
ปี
2555
ด้าน
ด้านผู้หญิงกับชีวิตสมัยใหม่
  • ภาคอุตสาหกรรม
ประเภท
วิทยานิพนธ์
หน่วยงาน
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์