องค์ความรู้ด้านผู้หญิงภาคใต้

ชื่อเรื่อง
บทบาทสื่อมวลชน และสื่อบุคคล ต่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง ของสตรี ศึกษาเฉพาะกรณี อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษา 1) พฤติกรรมการเปิดรับสื่อมวลชนและสื่อบุคคล 2) ความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการเปิดรับสื่อมวลชน  สื่อบุคคลกับความรู้ทางด้านข่าวสารการเมือง และระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสตรี 3) ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ทางด้านข่าวสารการเมืองและระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสตรี 4) เปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างการเปิดรับสื่อมวลชนและสื่อบุคคลกับความรู้ทางด้านข่าวสารการเมืองของสตรี กลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษาในครั้งนี้คือ สตรีจำนวน 200 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ แบบสอบถาม ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลใช้การหาค่าร้อยละ (Percentage) ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน (Pearson Product Moment) การทดสอบค่าที (t-test) ซึ่งประมวลผลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS/PC+
 
ผลการวิจัยพบว่า 1) การเปิดรับสื่อบุคคลมีความสัมพันธ์กับความรู้ทางด้านข่าวสารการเมือง แต่ไม่สัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสตรี 2) การเปิดรับสื่อมวลชนกับความรู้ทางด้านข่าวสารการเมือง แต่ไม่สัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสตรี 3) ความรู้เกี่ยวกับข่าวสารการเมืองไม่สัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสตรี 4) ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างการเปิดรับสื่อมวลชนกับความรู้ทางด้านข่าวสารการเมืองมีค่าสูงกว่าค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างการเปิดรับสื่อบุคคลกับความรู้ทางด้านข่าวสารการเมือง
 
การวิจัยครั้งนี้สามารถนำไปเป็นข้อมูลในการวางแผนการใช้สื่อเพื่อให้ความรู้ทางด้านข่าวสารการเมือง ให้สตรีระดับความรู้ทางด้านการเมืองให้มากขึ้นไปอีก เพื่อที่สตรีจะได้มีบทบาทในในทางการเมือง นอกเหนือไปจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่มีอยู่แล้ว นอกจากนี้ สื่อท้องถิ่นควรให้ความสนใจอย่างมากคือ สื่อวิทยุ ที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็วกว่าสื่ออื่นๆ เพราะใช้เวลาในการผลิตและเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าและเป็นสื่อที่เข้าถึงผู้ที่ไม่รู้หนังสือรับฟังได้  การใช้ภาษาควรเป็นภาษาท้องถิ่น รูปแบบรายการอาจจะใช้การออกไปสัมภาษณ์สตรีที่น่าสนใจในท้องถิ่นนั้นๆ มาออกอากาศ การทำให้สตรีในท้องถิ่นติดตามฟังรายการอย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยพัฒนาความรู้ของสตรีได้  นอกจากนี้สื่อหนังสือพิมพ์ควรได้รับการเผยแพร่ให้แพร่หลายให้ได้อ่านอย่างทั่วถึงในหมู่สตรี จากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างพบว่า เหตุผลสำคัญที่ไม่อ่านหนังสือพิมพ์คือไม่มีหนังสือพิมพ์ให้อ่าน หนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้านไม่เพียงพอ และต้องใช้เวลาในการเดินไปอ่านหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นการเสียเวลาในการทำการเกษตรที่เป็นอาชีพหลัก
ผู้เขียน
มัณฑนา มาศมาลัย
ปี
2534
ด้าน
ด้านบทบาท สถานภาพ และการมีส่วนร่วม
  • การมีส่วนร่วมทางการเมือง
ประเภท
วิทยานิพนธ์
หน่วยงาน
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย