การศึกษานี้ใช้กระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพศึกษาเฉพาะกรณี มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการใช้บริการคลอดกับผดุงครรภ์โบราณของมารดาที่นับถือศาสนาอิสลาม ศึกษาข้อมูลมารดาที่คลอดที่บ้านกับผดุงครรภ์โบราณ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2546 ถึง วันที่ 30 กันยายน 2550 ทั้งหมด 21 ราย โดยแบ่งปัจจัยด้านประสบการณ์การคลอดเป็นตัวกำหนดได้ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มมารดาที่มีประสบการณ์การคลอดเป็นครั้งแรก กลุ่มมารดาที่มีประสบการณ์การคลอดมากกว่า 1 ครั้ง และคลอดกับผดุงครรภ์โบราณทุกครั้ง กลุ่มมารดาที่มีประสบการณ์การคลอดทั้งที่บ้านและที่โรงพยาบาล โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกมารดากลุ่มที่เป้าหมายและบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามแบบสัมภาษณ์ที่สร้างขึ้น การสังเกต วิเคราะห์ข้อมูลโดยการสร้างข้อสรุปแบอุปนัย
ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกใช้บริการคลอดกับผดุงครรภ์โบราณ มากที่สุดตามลำดับดังนี้ คือ เจตคติที่มีต่อสถานบริการของรัฐ การรู้จักมักคุ้นกับผดุงครรภ์โบราณ การเข้าถึงแหล่งบริการ ได้รับความอบอุ่นใจจากญาติมิตรในชุมชน การอำนายความสะดวก ความรู้ที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการคลอด ลักษณะครอบครัวขยายและผู้มีอำนาจในกลุ่มมารดาที่คลอดบุตรเป็นครั้งแรก ส่วนปัจจัยที่ไม่มีผลต่อการเลือกใช้บริการคลอดกับผดุงครรภ์โบราณ คือ ระดับการศึกษา อาชีพ ฐานะทางเศรษฐกิจ ความสามารถในการสื่อสารภาษาไทย ระดับการศึกษาของสามี ลักษณะของครอบครัว ผู้มีอำนาจตัดสินใจ สถานภาพและบทบาททางสังคม และความเชื่อตามวัฒนธรรมอิสลาม