องค์ความรู้ด้านผู้หญิงภาคใต้

ชื่อเรื่อง
การดูแลตนเองและคุณภาพชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับยาไซโดวูดีน
บทคัดย่อ
เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เชิงปรากฏการณ์วิทยา มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรยายและอภิปรายปรากฏการณ์การดำเนินชีวิตของผู้หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับยาไซโดวูดีน และการดูแลตนเอง เพื่อศึกษาปัจจัยเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง และคุณภาพชีวิต ตามการรับรู้ในสถานการณ์จริง
 
การศึกษาได้คัดเลือกผู้ให้ข้อมูลแบบเจาะจง จำนวน 15 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกพร้อมการบันทึกเทป และการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม ระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2545 ณ โรงพยาบาล 2 แห่ง ในจังหวัดสงขลา แบ่งการให้ความหมายปรากฏการณ์การดำเนินชีวิตของกรณีศึกษาออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
      1. มีชีวิตอยู่อย่างทุกข์ทรมานใน : ตกใจ/ไม่คาดคิด คิดถึงความตาย ห่วงครอบครัว กลัวว่าผู้อื่นจะรู้ว่าติดเชื้อเอชไอวี หวั่นไหวต่อความไม่แน่นอนของโรคและยอมจำนนต่อโรคเอดส์
      2. ยาไซโดวูดีน คือความหวัง : ช่วยให้ลูกปลอดภัย ยานี้ดี ไม่มีปัญหา (ขนาดของยาเม็ดเล็ก ขั้นตอนการได้รับยาไม่ซับซ้อน ไม่มีผลข้างเคียงที่รุนแรง
 
กรณีศึกษาได้ดูแลตนเองในลักษณะพึ่งพาตนเอง แบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะคือ 1 ทำตามข้อปฏิบัติในการรับประทานยาไซโดวูดีน : รับประทานยาให้ครบถ้วน ตรงเวลา ขยันมาตรวจตามนัด แก้ไขเมื่อมีปัญหาสุขภาพ 2. ดูแลร่างกายให้แข็งแรง มีสุขภาพจิตดี ไม่เป็นที่รังเกียจของสังคม : ทำร่างกายให้แข็งแรง (กินอาหารดี ป้องกันการรับเชื้อเอชไอวีเพิ่มจากเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย  ทำใจให้คลายทุกข์ โดยใช้หลักศาสนาเป็นเครื่องพยุงใจ : คิดเสียว่าเป็นกรรมเก่า คิดว่าเกิดมาแล้วแล้วต้องตายทุกคน  เก็บเป็นความลับไม่ให้ใครรู้ว่าติดเชื่อเอชไอวี (รับประทานยา/แอบซ่อนยาไม่ให้ใครเห็น เลือกบอกบางคน ประพฤติตนไม่ให้ผิดสังเกต)
 
ปัจจัยส่งเสริมต่อการดูแลตนเองคือกำลังใจจากสามี ตระหนักดีว่าตนเองมีคุณค่าต่อลูกและการที่ได้รับความช่วยเหลือ ส่วนปัจจัยที่เป็นอุปสรรค คือไม่ได้รับความช่วยเหลือเมื่อต้องการ ขาดความรู้ และการปกปิดไม่บอกให้สามีรู้ว่าติดเชื้อเอชไอวี
 
ผลการศึกษาเกี่ยวกับคุณภาพชีวิต กรณีศึกษาให้ความหมายคุณภาพชีวิตว่าเป็นความสบายใจ ปราศจากเรื่องเดือดร้อนจากสาเหตุใดๆ ได้ทำในสิ่งตั้งในไว้ และการที่มีสัมพันธภาพที่ดีภายในครอบครัวและบุคคลอื่น แบ่งคุณภาพชีวิตของกรณีศึกษาออกได้เป็น 3 ลักษณะคือ สุขใจมาก คือ พอใจในชีวิตและสุขใจมากกว่าเมื่อก่อนติดเชื้อเอชไอวี สุขปนทุกข์ คือ ไม่พอใจในชีวิต แต่เมื่อคิดว่าติดเชื้อเอชไอวีทำให้ขาดความสุขเป็นครั้งคราว  ทุกข์ใจมาก คือไม่พอใจในชีวิต ไม่มีความสุขเลย
ผู้เขียน
พรทิพย์ อารีย์กุล
ปี
2545
ด้าน
ด้านสุขภาพอนามัยของผู้หญิง
  • กามโรค เอช ไอ วี และโรคเอดส์
ประเภท
งานวิจัย
หน่วยงาน
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์