องค์ความรู้ด้านผู้หญิงภาคใต้

ชื่อเรื่อง
การพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของแรงงานสตรี ในอุตสาหกรรมอาหารทะเล จังหวัดปัตตานี
บทคัดย่อ
ได้รับทุนสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดินปี 2548-2549
 
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของแรงงานสตรีในอุตสาหกรรมอาหารทะเล จังหวัดปัตตานี กลุ่มตัวอย่างเป็นแรงงานสตรีในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารทะเล ตำบลบานา อำเภอเมือง และตำบลระแว้ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี จำนวน 46 คน เทคนิคในการเสริมสร้างการมีส่วนร่วม ได้แก่ การจัดเวทีสัมภาษณ์และแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการวิเคราะห์เนื้อหา
 
ผลการวิจัยพบว่า การสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของแรงงานสตรีในอุตสาหกรรมอาหารทะเล จังหวัดปัตตานี มีขั้นตอนที่สำคัญ คือ 1) บูรณาการทีมวิจัยของภาคีการพัฒนา  2) วิเคราะห์ปัญหาของแรงงานสตรี  3) ศึกษาข้อมูลคุณภาพชีวิตของแรงงานสตรี  4) จัดทำแผนปฏิบัติการ  5) ปฏิบัติงานตามโครงการ  6) ติดตามประเมินผลและสรุปบทเรียน โดยมีหลักการสำคัญ คือ  1) การรวมกลุ่มของแรงงานสตรีในการดำเนินงานเป็นกลุ่มขนาดเล็ก ประสานเชื่อมโยงภายในกลุ่มและระหว่างกลุ่มของแรงงานสตรีในการดำเนินงานเป็นกลุ่มขนาดเล็ก ประสานเชื่อมโยงกันภายในกลุ่มและระหว่างกลุ่ม  2) ภาคีการพัฒนาทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ  3) การสร้างเสริมการมีส่วนร่วมจองแรงงานสตรีใช้เทคนิคที่หลากหลายบนพื้นฐานของวัฒนธรรมและบริบทของชุมชน การดำเนินการดังกล่าวสามารถเสริมสร้างการเรียนรู้แก่แรงงานสตรี ชุมชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และส่งผลให้แรงงานสตรีมีการพัฒนาคุณภาพชีวิต 3 ด้าน คือ 1) ด้านเศรษฐกิจ แรงงานสตรีมีอาชีพเสริม รู้จักวางแผนเพื่อลดรายจ่ายในครอบครัว และใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต  2) ด้านสังคม แรงงานสตรีมีการพัฒนาความสัมพันธ์ในครอบครัว มีการรวมกลุ่ม มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน และ 3) ด้านสุขภาพ แรงงานสตรีได้ปรับเปลี่ยนการดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว ด้านการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การลดความเครียด ปัจจัยเอื้อในการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมครั้งนี้ ได้แก่ องค์ประกอบของทีมวิจัย การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม และการสนับสนุนด้านขวัญและกำลังใจอย่างต่อเนื่อง ส่วนปัจจัยที่เป็นอุปสรรคได้แก่ สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ กิจกรรมพัฒนาชุมชนของภาครัฐที่เร่งรัดใช้งบประมาณและข้อจำกัดด้านเวลาของแรงงานสตรี
 
มีบทความในเรื่องเดียวกันนี้ตีพิมพ์  ปราณี ทองคำ, สนั่น เพ็งเหมือน, เพ็ญพักตร์ ทองแท้, มารุต ดำชะอม. (2550).  “การพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของแรงงานสตรี ในอุตสาหกรรมอาหารทะเล จังหวัดปัตตานี” วารสารสงขลานครินทร์ ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. ปีที่ 14 ฉบับที่ 4 . หน้า 553-557. 
ผู้เขียน
ปราณี ทองคำ สนั่น เพ็งเหมือน เพ็ญพักตร์ ทองแท้ และ มารุต ดำชะอม
ปี
2550
ด้าน
ด้านสุขภาพอนามัยของผู้หญิง
  • การดูแลสุขภาพอื่น ๆ 
ประเภท
งานวิจัย
หน่วยงาน
คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลา