องค์ความรู้ด้านผู้หญิงภาคใต้

ชื่อเรื่อง
แต่งงานกับนางไม้
บทคัดย่อ
เป็นการศึกษาที่กล่าวถึงผู้หญิงในประเพณีและพิธีกรรมพื้นบ้านที่สืบทอดกันมา ซึ่งยังคงให้ความสำคัญกับผู้หญิง คล้ายกับว่าประเพณีและพิธีกรรมเหล่านั้นยังคงยกย่องให้ความเป็นหญิงให้ดำรงอยู่ในสังคม การศึกษาของบุญเลิศเป็นการศึกษาวิจัยที่ต้องการศึกษา ประเพณีแต่งงานกับนางไม้ในเขตอำเภอสิงหนคร  จังหวัดสงขลา โดยศึกษารูปแบบ ความเชื่อ ความหมายและสัญลักษณ์เกี่ยวกับประเพณีแต่งงานกับนางไม้  ปัจจัยและเงื่อนไขในการประกอบพิธีกรรม ตลอดถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบ พิธีกรรมกับประเพณีดังกล่าว โดยใช้วิธีการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Approach) จากการศึกษาพบว่า รูปแบบของการประกอบพิธีกรรมแต่งงานกับนางไม้มีความสอดคล้องกับการแต่งงานของคู่บ่าวสาวโดยทั่วไป แต่มีความแตกต่างในวัตถุประสงค์และความหมาย ซึ่งมี สาระสำคัญคือ เป็นประเพณีที่เกิดจากรากฐานวัฒนธรรมการนับถือตายาย นำมาสู่การเซ่นสรวง บวงพลีแก่วิญญาณบรรพบุรุษ จัดเป็นการแสดงเพื่อตอบสนองความต้องการที่พึ่งทางใจ อันเป็น ลักษณะสำคัญของศาสนาปฐมบรรพ์สัญลักษณ์หลักของพิธีกรรม คือ ทวด ซึ่งถือได้ว่าเป็นวิญญาณบรรพบุรุษของผู้ประกอบ พิธีกรรม ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการกำหนดบทบาทความสัมพันธ์ระหว่างลูกหลานกับบรรพบุรุษ ที่เรียกกันว่า แม่ทวดม่วงทอง สัญลักษณ์หลักดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้ในพิธีกรรมเพื่อโต้ตอบ กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมศาสนา จนมีผลสำคัญในการลดความขัดแย้งในเชิงอุดมคติทาง ศาสนาระหว่างพุทธศาสนาแบบชาวบ้านกับศาสนาอิสลามแบบชาวบ้านในพื้นที่แห่งนี้ ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมศาสนานี้เองเป็นเงื่อนไขสำคัญส่วนหนึ่งในการประกอบพิธีกรรม ซึ่งถือได้ว่า เป็นพิธีกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการทางสังคมฉะนั้นสรุปได้ว่า การจัดประเพณีแต่งงานกับนางไม้ มีเหตุผลทางด้านสังคม และเหตุผลทางด้านจิตใจเป็นสิ่งสำคัญ โดยการจัดประเพณีดังกล่าวมีแนวโน้มปรับตัวสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมทั้งในส่วนของวิธีการ ความหมาย และวัตถุประสงค์
ผู้เขียน
บุญเลิศ จันทระ
ปี
2544
ด้าน
ด้านคติชนวิทยา
  • ค่านิยม เกี่ยวกับผู้หญิงในอดีต
ประเภท
งานวิจัย
หน่วยงาน
สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ