องค์ความรู้ด้านผู้หญิงภาคใต้

ชื่อเรื่อง
การเปลี่ยนแปลงบทบาทชายหญิงในกระบวนการปรับตัวด้านอาชีพของครัวเรือน : ศึกษากรณีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง
บทคัดย่อ
ได้รับทุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)
 
ภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ชายและหญิงใช้กลยุทธ์การดำรงชีพที่แตกต่างกันเพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลง การสร้างความหลากหลายของวิถีการดำรงชีพเป็นกลยุทธ์หลักที่ ครัวเรือนใช้เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ทว่าผลกระทบของการสร้างความหลากหลายในการดำรงชีพต่อความอยู่รอดและความมั่นคงของครัวเรือนอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความสามารถของ ครัวเรือนในการเข้าถึงทุนและทรัพยากรประเภทต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ กล่าวโดยทั่วไป ผู้ชายมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในการปรับตัวด้านอาชีพ เนื่องจากผู้ชายสามารถทำกิจกรรม ทางเศรษฐกิจหลากหลายรูปแบบ โดยแทบไม่มีข้อจำกัดในเรื่องสถานที่และระยะเวลาในการประกอบอาชีพน้อยกว่าผู้หญิง ในขณะที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ปรับตัวโดยแสดงบทบาทในฐานะผู้จัดการ ครัวเรือนและผู้ประสานสัมพันธ์ในหมู่เครือญาติ เพื่อช่วยให้สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่ขาดแคลน ซึ่งช่วยสร้างทางเลือกในการดำรงชีพที่หลากหลาย และไม่ผูกติดกับระบบตลาด   ความเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจสังคมส่งผลกระทบต่อการแบ่งงานกันทำ ในครัวเรือนด้วย ดังจะเห็นได้จากการที่ชายและหญิงจำนวนมากแสดงบทบาทแตกต่างจากบทบาท
 
ในเชิงจารีตประเพณีที่เคยเชื่อกัน แนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นอย่างชัดเจนคือ การที่ผู้หญิงมีบทบาททาง เศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้น ดังจะเห็นได้จากจำนวนครัวเรือนซึ่งผู้หญิงเป็นหัวหน้าครอบครัว เพิ่มขึ้น และการที่ผู้หญิงต้องรับผิดชอบในการหารายได้เลี้ยงครอบครัวมากขึ้น ในขณะที่ผู้หญิงต้อง รับผิดชอบในเรื่องการดูแลความอยู่ดีกินดีของครอบครัวไปพร้อมกัน  การที่บทบาทและความรับผิดชอบของผู้หญิงต่อครอบครัวและชุมชนเพิ่มขึ้น ทว่าผู้หญิงกลับมีโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาทักษะอาชีพน้อยและผู้หญิงยังได้รับผลกระทบจากอคติทางเพศที่มีมาในอดีตซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวด้านอาชีพของผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงมีข้อจำกัดในการปรับตัวค่อนข้างมาก และกลายเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงสูง ด้วยเหตุผลดังกล่าว การเสริมสร้างศักยภาพของชายและหญิงในการปรับตัวด้านอาชีพ จึงควรคำนึงถึงการเสริมสร้างศักยภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และการพัฒนาทักษะอาชีพ ควบคู่ไปกับการลดอคติทางเพศที่มีต่อผู้หญิง เพื่อช่วยให้ทั้งชายและหญิงสามารถปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชน
ผู้เขียน
เนตรดาว เถาถวิล
ปี
2551
ด้าน
ด้านอัตลักษณ์ ความเป็นหญิง และเพศสภาพ
  • เพศสภาพ เพศวิถี
ประเภท
งานวิจัย
หน่วยงาน
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์