การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงพฤติกรรมการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองของสตรีมุสลิม ปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมบทบาทสตรีทางด้านการเมือง ตลอดจนเพื่อทราบปัญหาและอุปสรรคของการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองของสตรีมุสลิม วิธีการศึกษาเป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ รวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เจาะลึก ผู้ให้ข้อมูลที่สำคัญ 15 ราย และการสังเกต ข้อมูลที่ได้นำมาวิเคราะห์ควบคู่กับบริบทโดยใช้สถิติค่าเฉลี่ย และค่าร้อยละ
ผลการศึกษาพบว่า 1) พฤติกรรมการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองของสตรีมุสลิม มีพื้นฐานมาจากแรงผลักดันของครอบครัว ทั้งความคิดและการแสดงกิจกรรมทางการเมือง รวมไปถึงสภาพทางสังคมที่แวดล้อม ความพร้อมส่วนบุคคลและความสนใจการเมือง 2) สตรีมุสลิมส่วนใหญ่ร้อยละ 80 เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองอยู่ในระดับปานกลาง โดยมีกิจกรรมที่แสดงบทบาท คือ การติดตามข่าวสารทางการเมืองอยู่เสมอ การเดินขบวนต่อต้านรัฐบาล หรือเรียกร้องต่างๆ การเข้าร่วมสัมมนาทางการเมือง และการเป็นสมาชิกของกลุ่มการเมือง 3) ปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสตรีมุสลิม ประกอบด้วย ปัจจัยภายในครอบครัว ได้แก่ การสนับสนุนจองคนในครอบครัวและเครือญาติ การปลูกฝังทางความคิด เป็นต้น ปัจจัยทางสังคม ได้แก่ การรับรู้บทบาทที่ต่างกันระหว่างชายและหญิง ตามหลักคำสอนของศาสนาอิสลามทำให้สตรีต้องทำหน้าที่ตนเอง คือ การเป็นผู้อบรมสั่งสอน การดูแลบุตรมากกว่าที่จะทำหน้าที่ในทางการเมืองการปกครอง ปัจจัยทางเศรษฐกิจ คือที่คนมีฐานะดี ย่อมมีความพร้อมทางการเมืองมากกว่าคนจน ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ความสนใจของแต่ละ บุคคล ระดับการศึกษาที่คนมีการศึกษาทางการเมืองมากกว่าคนที่มีการศึกษาต่ำ ความต้องการเกียรติ ศักดิ์ศรี และการยอมรับจากสังคม 4) ปัญหาอุปสรรคที่ขัดขวางการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองของสตรีมุสลิม คือ การตีความหลักการคำสอนของศาสนาที่ไม่ชัดเจน และเป็นการตีความที่กำหนดให้สตรีต้องปฏิบัติกิจกรรมภายในบ้าน ซึ่งขัดขวางต่อบทบาททางการเมืองส่วนใหญ่ต้องออกไปทำกิจกรรมในที่สาธารณะปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาเชิงชู้สาวและวัฒนธรรมการแต่งกายของสตรีมุสลิมที่ต้องมิดชิดทำให้ขาดความคล่องตัวในกิจการทางการเมือง
ข้อเสนอแนะ คือ ควรมีการประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการให้ความรู้ด้านการเมืองให้กว้างขวางโดยเฉพาะโรงเรียน และองค์กรเกี่ยวข้องกับสตรีให้หลากหลายวิธีการ ทั้งสื่อวิทยุ โทรทัศน์และการจัดสัมมนาต่างๆ เพื่อการรับรู้และปลูกฝังจิตสำนึกทางการเมืองแก่ประชาชน 2) ส่งเสริมให้มีแบบอย่างที่ดีทางการเมืองของสตรีให้มากขึ้น 3) องค์กรต่างๆ ของสตรีมุสลิม ควรสร้างความเข้มแข็งขององค์กรและแสดงจุดยืนทางการเมืองของสตรีมุสลิมให้เด่นชัด อีกทั้งเป็นตัวแทนในการศึกษาหลักคำสอนศาสนาอิสลามให้มีการตีความบทบาททางการเมืองของสตรีมุสลิมให้ชัดเจนและยึดถือเป็นแนวทางเดียวกัน