logo

“โรคไข้ดิน” ป่วยสะสม 2,314 คน เสียชีวิต 34 คน

กรมควบคุมโรค เตือนโรคเมลิออยด์ หรือไข้ดิน หากติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตได้ เลี่ยงเดินลุยน้ำย่ำโคลน น้ำท่วมขัง พบป่วยสะสม 2,314 คน เสียชีวิต 34 คนกลุ่มเสี่ยงโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไตเรื้อรัง โรคธาลัสซีเมีย

วันนี้ (19 ต.ค.2565) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้ยังคงมีฝนตกในบางพื้นที่ ทำให้มีน้ำท่วมขังหรือดินชื้นแฉะ ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมและเกษตรกร หรือผู้ที่ต้องทำงานสัมผัสดินและน้ำโดยตรง รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคไตเรื้อรัง และโรคธาลัสซีเมีย จะมีความเสี่ยงป่วยโรคเมลิออยด์สูง

เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุจะอยู่ในดินและในน้ำ จะเข้าสู่ร่างกายได้ทางการดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ และทางผิวหนัง หรือการสูดหายใจเอาฝุ่นจากดินที่มีเชื้อเจือปนเข้าไป หลังติดเชื้อ1-21 วันจะมีอาการเจ็บป่วย

นพ.ธเรศ กล่าวว่า ส่วนบางรายอาจนานเป็นปี ขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับและภูมิต้านทานของแต่ละคน อาการของโรคนี้ไม่มีลักษณะเฉพาะ จะมีความหลากหลายคล้ายโรคติดเชื้ออื่นๆ หลายโรค เช่น มีไข้สูง มีฝีที่ผิวหนัง มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ อาจติดเชื้อเฉพาะที่ หรือติดเชื้อแล้วแพร่กระจายทั่วทุกอวัยวะและเสียชีวิตได้

ส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากอาการไข้เป็นหลัก ทำให้วินิจฉัยโรคได้ยาก ต้องอาศัยการตรวจเพาะเชื้อทางห้องปฏิบัติการเป็นหลัก เพื่อใช้ประกอบการตรวจวินิจฉัยและรักษา

 

ป่วยสะสม 2,314 ราย เสียชีวิต 34 คน

ขณะที่สถานการณ์โรคเมลิออยด์ในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-10 ต.ค.นี้ พบผู้ป่วย 2,314 คน เสียชีวิต 34 คน กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ อายุมากกว่า 65 ปี รองลงมา 55-64 ปี และ 45-54 ปี 

พบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตกระจายอยู่ทุกภาคของประเทศไทย แต่พื้นที่ที่พบอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อัตราตายสูงสุด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้

ด้านนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับวิธีการป้องกัน โรคเมลิออยด์สามารถทำได้ ดังนี้ หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน หรือสัมผัสดินและน้ำโดยตรง หากจำเป็นขอให้สวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง กาง เกงขายาวหรือชุดลุยน้ำ หลังสัมผัสดินและน้ำให้ทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที

นอกจากนี้ ให้กินทอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำสะอาดหรือต้มสุกทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการสัมผัสลมฝุ่นและการอยู่ท่ามกลางสายฝน และหากมีอาการไข้สูง ร่วมกับมีประวัติการสัมผัสดินและน้ำ ให้รีบพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะเกษตรกรและผู้ป่วยโรคเบาหวาน 

Credit : https://www.thaipbs.or.th/news/content/320598?fbclid=IwAR3_5zlfnv3F4y-pBeYAS35vdby-4y75CY27Fw7yD3jEoVJ3vNromeQtNH0