Knowledge Management of Women in the South

Title
บทบาทหญิงชายกับการปฏิบัติตัวเกี่ยวกับอนามัยการเจริญพันธ์ก่อนการแต่งงานของวัยรุ่นในจังหวัดสงขลา
Abstract
การศึกษาเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาคุณลักษณะทางประชากร เศรษฐกิจ และสังคมของวัยรุ่นที่ยังไม่ได้แต่งงานในจังหวัดสงขลา และ 2) เพื่อศึกษาบทบาทหญิงชายกับการปฏิบัติตัวเกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธ์ก่อนการแต่งงานของวัยรุ่นในจังหวัดสงขลา กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้เป็นวัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 12-24 ปี ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสงขลา จำนวน 409 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ แบบสอบถาม สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติพื้นฐานมาพรรณนาข้อมูลได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน โดยมุ่งเน้นการวิเคราะห์จำแนกตามเพศ(ชาย-หญิง) และพื้นที่ (ชนบท-เมือง)
 
ผลการศึกษา พบว่า วัยรุ่นกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงร้อยละ 60.9 เป็นผู้ชาย 39.1 อาศัยอยู่ในชนบทร้อยละ 50.9 และอยู่ในเมืองร้อยละ 49.1 วัยรุ่นชายและหญิงส่วนใหญ่มีคุณลักษณะทางประชากร เศรษฐกิจ สังคมคล้ายคลึงกัน คือนับถือศาสนาพุทธ พักอาศัยอยู่กับบิดา มารดา โดยบิดามารดาอยู่ด้วยกัน บิดาประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป เป็นบุตรคนโต มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 3 คน กำลังศึกษาอยู่ มีรายได้พอใช้ บทบาทหญิงชายกับการปฏิบัติตัวเกี่ยวกับอนามัยการเจริญพันธ์ พบว่าวัยรุ่นชายและหญิงมีการปฏิบัติตัวเกี่ยวกับอนามัยการเจริญพันธ์ในเรื่อง พฤติกรรมทางเพศ การวางแผนครอบครัวเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์และการทำแท้งคล้ายคลึงกันระหว่างวัยรุ่นชายและหญิง ซึ่งแสดงให้ว่าวัยรุ่นชายและหญิงมีความเสมอภาคทางเพศ โดยวัยรุ่นหญิงมีสิทธิอนามัยการเจริญพันธ์ และวัยรุ่นชายมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่ออนามัยเจริญพันธ์ของวัยรุ่นหญิงระดับหนึ่ง
 
แนวทางเสนอแนะเพื่อการพัฒนาเชิงนโยบายได้แก่  1) การกำหนดนโยบายและกิจกรรมเกี่ยวกับอนามัยการเจริญพันธุ์ควรคำนึงถึงความต้องการของวัยรุ่น 2) การจัดบริการของรัฐด้านอนามัยเจริญพันธุ์ควรให้วัยรุ่นเข้าถึงการบริการมากขึ้น  3) การบริการอนามัยการเจริญพันธ์ควรมุ่งเน้นบทบาทหญิงชาย  4) โครงการบริการต่างๆ ควรยึดชุมชนเป็นศูนย์กลาง ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติ ได้แก่ 1) ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจอนามัยเจริญพันธุ์แก่วัยรุ่นเพิ่มขึ้น โดยให้แกนนำวัยรุ่นเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่วัยรุ่นต่อไป  2) ส่งเสริมบทบาทครูอาจารย์ ผู้ปกครอง และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการให้ความเข้าใจแก่วัยรุ่นในเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์  3) ควรรณรงค์การใช้ถุงยางอนามัยในการีเพศสัมพันธ์กับคนรักและเพื่อนมากขึ้น 4) ควรจัดสถานที่ให้บริการแก่วัยรุ่นโดยเฉพาะ  5) ควรจัดหลักสูตรเพศศึกษาให้แก่วัยรุ่นในชุมชน 6) ควรสร้างค่านิยมด้านเพศที่ถูกต้องในกลุ่มวัยรุ่น และ 7) ควรจัดหอพักให้แก่นักเรียนนักศึกษาในสถาบันการศึกษาเพื่อลดความสะดวกในการมีเพศสัมพันธ์
Author
สุทธิพร  บุญมาก
Year
2549
Subject Group
ด้านประชากรศึกษา
  • ภาวะเจริญพันธ์
Type
งานวิจัย
Organization
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ