Knowledge Management of Women in the South

Title
ทำเนียบผดุงครรภ์ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
Abstract
ผดุงครรภ์โบราณเป็นบุคลกรที่มีความสำคัญ เป็นบุคคลที่สังคมให้ความนับถือ โดยเฉพาะในเรื่องของการดูแลครรภ์ การคลอด การดูแลมารดาและทารกหลังคลอด ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส พบการใช้บริการฝากครรภ์และคลอดกับผดุงครรภ์โบราณยังอยู่ในอัตราที่สูง เมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นของประเทศไทย ดังนั้นการจัดทำทำเนียบผดุงครรภ์โบราณครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบจำนวนและลักษณะเบื้องต้นของผดุงครรภ์โบราณ และเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจนำไปใช้เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งสำหรับการวางแผนในการดำเนินงานได้อย่างเหมาะสม
 
ผู้เก็บข้อมูลเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับจังหวัด อำเภอและตำบลที่รับผิดชอบแต่ละพื้นที่ เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ผดุงครรภ์โบราณตามแบบฟอร์มที่กำหนดซึ่งประกอบด้วยแบบฟอร์มสำหรับจัดทำทำเนียบและข้อมูลทั่วไปของผดุงครรภ์โบราณ
 
จากลักษณะทั่วไปของผดุงครรภ์โบราณ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 1,412 คน จำแนกเป็นจากจังหวัด นราธิวาส 497 คน จังหวัดปัตตานี 464 คน จังหวัดยะลา 293 คน จังหวัดสงขลา 96 คน จังหวัดสตูล 62 คนตามลำดับ พบว่าผดุงครรภ์โบราณร้อยละ 98 นับถือศาสนาอิสลาม ส่วนใหญ่อายุค่อนข้างมาก กว่าครึ่งหนึ่งมีอายุ 55-69 ปี กว่า 1 ใน 5 อายุมากกว่า 70 ปี ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการศึกษาสายสามัญ จบการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 1-4  อีกทั้งจำนวนมากไม่สามารถพูดและฟังภาษาไทยได้
 
บทบาทหลักคือการทำคลอดแต่การทำคลอดไม่ใช่อาชีพหลักที่ก่อให้เกิดรายได้ ส่วนมากมีอาชีพหลักเห็นเกษตรกร ทำสวนยางพารา ประสบการณ์ในการทำคลอดมากกว่าครึ่งหนึ่งทำหน้าที่มหมอตำแยมานานกว่า 15 ปี และมีหมอตำแยร้อยละ 10 ที่ทำคลอดมากนานกว่า 30 ปี ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการอบรมในการทำคลอด
 
การเป็นผดุงครรภ์โบราณ ผู้ที่มีเชื้อสายผดุงครรภ์โบราณโดยมีประวัติคนในตระกูลเคยเป็นผดุงครรภ์มาก่อนน่าจะมีโอกาสเป็นผดุงครรภ์สูงกว่าบุคคลอื่น แต่มีจำนวนมากกว่าครึ่งทำคลอดได้โดยไม่ได้รับการถ่ายทอดจากผู้ใด  ผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดส่วนมากได้รับจากญาติและแม่ ส่วนคนที่ทำคลอดได้เองส่วนหนึ่งจะมีคนในตระกูลเคยเป็นผดุงครรภ์โบราณมาก่อน
 
นอกเหนือจากการทำคลอดแล้วผดุงครรภ์โบราณส่วนใหญ่จะมีความสามารถพิเศษ เช่นการบีบนวด การใช้สมุนไพรในการรักษาโรค
 
โดยสรุปผดุงครรภ์โบราณมีลักษณะที่แตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนได้แก่ความสามารถในการฟังและพูดภาษาไทย
Author
สุดารัตน์ ธีระวร
Year
2547
Subject Group
ด้านคติชนวิทยา
  • บทบาทของผู้หญิงในอดีต
Type
งานวิจัย
Organization
ศูนย์อนามัย ที่ 12 ยะลา, สำนักงานสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)