Knowledge Management of Women in the South

Title
ประเพณีความเชื่อเกี่ยวกับ การตั้งครรภ์ การคลอด และการปฏิบัติตัวของมารดาหลังคลอดใน 4 พื้นที่ศึกษา 4 ภาคของประเทศไทย
Abstract
 ได้ศึกษาความเชื่อเกี่ยวกับการสุขอนามัยแม่และเด็กใน อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ซึ่งได้แบ่งกลุ่มของแม่ตามศาสนา คือ แม่ที่นับถือศาสนาพุทธและแม่ที่นับถือศาสนาอิสลาม ว่า มีความเชื่อตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์เกี่ยวกับความฝัน เช่นถ้าฝันว่าจะได้แหวนทำนายว่าจะมีลูก ส่วนการทำนายความฝันระหว่างการตั้งครรภ์ถ้าฝันว่าได้สายสร้อยจะได้ลูกสาว ถ้าฝันเห็นพระจะได้ลูกชาย ส่วนความเชื่อในขณะตั้งครรภ์มักเกี่ยวข้องกับข้อห้ามและข้อปฏิบัติ เช่นข้อห้ามเรื่องการรับประทานอาหารระหว่างตั้งครรภ์ เช่นห้ามกินฟักเขียวเพราะจะทำให้รกเปื่อย ห้ามกินปลีกล้วยจะทำให้คลอดยาก ห้ามกินหอยจะทำให้รกพันกันเป็นอันตรายแก่เด็ก ไม่กินของที่มีสีดำ เชื่อว่าลูกเกิดจะผิวดำ ไม่ให้กินเนื้อมะพร้าวมากเกินไปเชื่อว่าลูกจะหัวแข็ง คลอดยาก  ไม่กินยาบำรุงมากขณะตั้งครรภ์จะทำให้ลูกตัวโตคลอดยาก นอกจากนี้ยังมีอาหารที่ควรรับประทาน เช่น มะพร้าวอ่อน มะเขือเทศ นม กินผลไม้มากๆ ทำให้ผิวสวย กินยอดขี้เหล็ก ยอดนิดิง เปลือกชมพู่ รากไม้ หมากพลู กินน้ำจากปลายผมที่สระสะอาดแล้ว ทำให้คลอดง่าย
 
ความเชื่อด้านสถานที่ ห้ามคนท้องนั่งคาบันไดหรือนั่งระหว่างประตูเรือน ห้ามอาบน้ำในเวลากลางคืน จะทำให้คลอดยากอถ้าร้อนมากให้อมน้ำไว้ในปาก  ระหว่างตั้งครรภ์ห้ามไปดูคนที่กำลังจะคลอดเด็ดขาด ข้อห้ามที่พบทั่วไปทั้งพุทธและมุสลิมคือ ไม่ให้เตรียมอุปกรณ์สำหรับเด็กอ่อน จนกว่าใกล้จะคลอด ความเชื่อในสิ่งเหลือเชื่อเช่นสตรีที่ตั้งครรภ์ให้ใช้เข็มกลัดเวลาออกจากบ้าน เป็นการป้องกันตัวเองจากผีร้าย ห้ามหยุดที่ทางสามแพร่ง ห้ามไม่ให้หญิงตั้งครรภ์ฆ่าสัตว์ ห้ามเดินกินอาหาร ถ้าถูกแมลงกัดต่อยก็อย่าให้คนท้องรู้  ส่วนประเพณีความเชื่อเกี่ยวกับการคลอดและการปฏิบัติตัวหลังคลอด การเตรียมตัวก่อนชาวมุสลิมมีการละหมาดฮายัดและพิธีขอดุอาร์ ส่วนขาวพุทธหมอตำแยมักทำหมาก-พลูให้กินพร้อมกับรากไม้บางอย่างเพื่อให้คลอดง่ายขึ้น ระหว่างคลอดในกรณีที่คลอดกับหมอตำแยจะต้องมีการเตรียมบริเวณ สามีจะต้องตักน้ำใส่ถังไว้พร้อมต้มน้ำร้อนไว้ให้พร้อม สตรีที่จะคลอดนอนหนุนตักแม่ของตัวเองหรือญาติผู้หญิงที่ใกล้ชิด เมื่อทารกคลอดออกมาหมอตำแยจะตัดสายสะดือและอาบน้ำให้เด็กด้วยน้ำมะพร้าวและสบู่หลังจากนั้นห่อตัวเด็กด้วยผ้าอ้อมวางในถาดซึ่งมีผ้าปูไว้เรียบร้อย ส่วนแม่ให้ผลัดผ้าที่เปื้อนออก อาบน้ำเปลี่ยนผ้าใหม่ บริเวณบ้านให้นำกิ่งไม้ที่มีหนามมาปักไว้ใต้ถุนบ้าน ส่วนรกหมดตำแยจะทำความสะอาด คลุกเกลือ ส้มแขกและขมิ้นแล้วห่อด้วยผ้าถุงเก่าๆ ของแม่ให้พ่อของเด็กเอาไปฝัง ถ้าเป็นมุสลิมทางทารกจะต้องผ่านพิธีอาซาน หลังคลอดจะมีการอยู่ไฟ หมอตำแยหรือโต๊ะบิดัน จะเป็นผู้ทำพิธีก่อฟืนให้แม่อยู่ไฟส่วนฟืนเป็นหน้าที่ของสามีที่จะเตรียมหามาแม่จะนอนอยู่บนแคร่ไม้อีกทีหนึ่งมักจะนุ่งโสร่งตัวเดียวนอนพิงไฟใช้วางลูกประคบ (ผ้าห่อทราย) เพื่อนำมาประคบ ท้องของแม่หลังคลอด และบางครั้งก็ประคบท้องให้ลูกด้วย กรณีที่ลูกปวดท้องร้องโยเย ระยะเวลาการอยู่ไฟนั้น แตกต่างกันไปแล้วแต่บุคคล อาจเป็น 5 วัน 7 วัน หรือถ้านานกว่านี้ก็อาจเป็น 20 30 หรือ 40 วัน ก็แล้วแต่ความประสงค์ของหญิงนั้น ถ้าจะเลิกอยู่ไฟต้องเลิกวันคี่ คือวันที่ 5, 7, 21 หรือ 31 แล้วแต่ว่าจะอยู่กี่วัน เมื่ออยู่ไฟครบหมอตำแยผู้ที่ทำพิธีให้อีกตามเคย โดยใช้ไก่มาเขี่ยเป็นการดับไฟ (หมอตำแยอุ้มไก่มาเพื่อให้เขี่ยไฟ) และ ทำพิธีผลักก้อนเส้า และจะขุดหลุมฝังเถ้าถ่านที่เหลือจากการอยู่ไฟ และมีการล้างทำความสะอาดบริเวณอยู่ไฟ ทั้งหมด หลังจากนี้ก็จะจัดหมาก-พลู  เงินค่าหมด (แล้วแต่ให้) ข้าวเหนียวเหลือง ให้แก่โต๊ะบิดันด้วย เสร็จพิธี เพียงเท่านี้
อาหารต้องห้ามสำหรับสตรีที่เพิ่งคลอด เช่น  ห้ามกินหน่อไม้ ถั่ว แผลจะไม่หายดี ส่งผลถึงสายสะดือเด็กด้วยห้ามกินปลาดุก ปลาโอ ปลาชะโด บางคนห้ามกินปลาทุกชนิด ปลาน้ำจืด กินแล้วเกิดอาการคัน แผลหายยาก กินแล้วเป็นลม อาเจียน เป็นอันตรายแกแม่ ผลไม้บางชนิดห้ามกินเช่น กล้วย หอม ขนนุ แตงโม ลองกองกินแล้วอาจเกิดอาการคางแข็ง ชักบ้างก็ว่ากินแล้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะห้ามกินหอย 7 เดือนหลังคลอดกลัวมดลูกจะไม่แห้ง ห้ามกินสัปปะรดเชื่อมว่าจะทำให้แม่ตกเลือดได้
สำหรับอาหารของสตรีหลังคลอดบุตรในกลุ่มพุทธนั้น มักนิยมกินของที่ใช้ความร้อนแก่ร่างกาย เช่น ยำ ตะไคร้ พริกไทยคั่วบดละเอียด อาจนำมาผัดกับหมู หรือไก่ เชื่อว่าจะช่วยขับเลือดที่ไม่ดีที่ยังตกค้างอยู่ให้หมดได้ และยังมีผลไปถึงลูกด้วยเชื่อว่าสามารถแก้อาการลูกท้องขึ้น ปวดท้องได้ ของร้อนชนิดอื่นก็เช่น หมูผัดขิง หมูทอด หมูปิ้ง เนื้อสัตว์ที่กำหนดให้กินนั้นส่วนใหญ่ คือ หมู และไก่ เมนูที่ติดปากสำหรับสตรีหลังคลอดคือ หมู ผัดขิงและหมูผัดพริกไทย อาหารที่บำรุงก็คือ ไข่นม ส่วนอาหารที่นิยมกินเป็นการช่วยเรียกน้ำนมทั้งกลุ่มพุทธและมุสลิม คือ แกงเลียง กล้วยน้ำว้า ปลีกล้วยต้ม
Author
สุธรรม นันทมงคลชัย ภัทรา สง่า เรืองศักดิ์  ปิ่นประทีป ระวีวรรณ ชอุ่มพฤกษ์  และ อำภาพร  พัววิไล
Year
2546
Subject Group
ด้านคติชนวิทยา
  • บทบาทของผู้หญิงในอดีต
Type
งานวิจัย
Organization
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข