“การสร้างเสริมสุขภาพ (Health Promotion)” หมายถึง กระบวนการเพิ่มความสามารถของบุคคลในการควบคุมปัจจัยต่างๆ ที่เป็นตัวกำหนดสุขภาพ และการควบคุมพฤติกรรมของตนเองให้เหมาะสม รวมถึงการปรับสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดี (World Health Organization, 1986) หรือ เป็นกระบวนการเพื่อให้บุคคลบรรลุการมีสุขภาวะที่ดี (Pender, Murdaugh, & Parsons, 2002) หรือ เป็นการกระทำที่มุ่งทำให้บุคคลมีสุขภาวะทางกาย จิต และสังคม โดยสนับสนุนพฤติกรรมของบุคคล สภาพสังคม และสิ่งแวดล้อมที่จะนำไปสู่การมีร่างกายที่แข็งแรง สภาพจิตที่สมบูรณ์ อายุยืนยาว และคุณภาพชีวิตที่ดี (พระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2544) โดยการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน เป็นการดำเนินการสร้างเสริมสุขภาวะกับกลุ่มคนมากกว่าหนึ่งคน ซึ่งอาจมองชุมชนในมิติเชิงสังคม เช่น กลุ่มออกกำลังกาย กลุ่มรักษ์สุขภาพ หรือชุมชนในมิติของพื้นที่ เช่น หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ประเทศ เป็นต้น โดยเป้าหมายสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน คือ การเกิดชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งหมายถึง การที่ชุมชนสามารถวางแผน จัดการแก้ปัญหาของชุมชนโดยชุมชนเองในการยกระดับภาวะสุขภาวะให้ดีขึ้น โดยการใช้คนและทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน เป้าหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพในการดูแลตนเองและการสนับสนุนทางสังคม สร้างระบบที่ยืดหยุ่นเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เข้มแข็ง หัวใจหลักในการดำเนินการคือ การเสริมสร้างพลังอำนาจ การทำให้ชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของ เพื่อให้สามารถควบคุม และพยายามดำเนินการไปให้ถึงเป้าหมาย สร้างการเข้าถึงข้อมูลอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง การเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้เพื่อสุขภาพ และการสนับสนุนด้านการเงิน (WHO, 2009) การสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน จะต้องเป็นกิจกรรมต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนดำเนินการได้ด้วยตัวเอง ในบางกรณีอาจอาศัยความช่วยเหลือทางการเงิน ทรัพยากร และเทคนิคต่างๆ จากภายนอก เมื่อประสบความสำเร็จแล้วก็ถ่ายทอดประสบการณ์ความสำเร็จและเทคนิคการดำเนินงานให้กับชุมชนอื่นๆ ไปปฏิบัติตามหรือเป็นตัวแบบในทางที่ดี เช่น ชมรมจักรยาน เป็นต้น

          “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน” จัดตั้งขึ้นเพื่อรวมนักวิจัยจากหลากหลายวิชาชีพ ที่สนใจในประเด็นการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน เพื่อร่วมกำหนดแนวทางการศึกษาวิจัยให้เป็นไปในทิศทางที่กำหนด และช่วยให้เกิดการเติมเต็มทั้งด้านความรู้และทักษะของแต่ละคนที่มาจากแต่ละวิชาชีพ เพื่อให้เห็นบทบาทหน้าที่ของและวิชาชีพในการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนให้ชัดเจนเพิ่มขึ้น เช่น พยาบาล สารสนเทศ การจัดการ ศิลปศาสตร์ เป็นต้น และคาดหวังว่าผลการวิจัยสามารถนำใช้ประโยชน์ได้จริง ทั้งการบูรณาการกับการเรียนการสอน การบริการวิชาการ การพัฒนาเครื่องมือต่างๆ เพื่อสนับสนุนการดูแลสุขภาวะชุมชนให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น  โดยการสร้างชุมชนต้นแบบด้านการดูแลสุขภาวะชุมชน วิเคราะห์ สังเคราะห์องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการวิจัย เพื่อประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพของมหาวิทยาลัย ตลอดจนเผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้สู่สังคมเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในวงกว้างต่อไป

           ศูนย์ความเป็นเลิศนี้ จัดตั้งขึ้นภายใต้ความเชื่อว่าชุมชนมีความหลากหลาย เปลี่ยนแปลงได้ตามบริบทของพื้นที่ ดังนั้นการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนในแต่ละพื้นที่ย่อมมีความแตกต่างกัน ความเชื่อนี้นำมาสู่การเลือกพื้นที่การศึกษาวิจัยแบบใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง (Community Area Base Research) โดยเลือกพื้นที่ที่มีความแตกต่างของประชากรกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เห็นภาพของชุมชนที่หลากหลาย สามารถใช้สังเคราะห์องค์ความรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนได้ในหลายมุมมองและหลายมิติ อีกทั้งยังช่วยให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชนที่มีความแตกต่างกันเพื่อช่วยให้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการบรรลุสู่เป้าหมายการสร้างชุมชนต้นแบบด้าน “การสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน” ได้เร็วขึ้น ผ่านกระบวนการเรียนรู้ข้ามพื้นที่ของประชากร และนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ต่อยอดในการพัฒนาพื้นที่ของตนเองได้แบบก้าวกระโดด เน้นการศึกษาวิจัยค้นหารูปแบบและกระบวนการ “การสร้างสุขภาวะชุมชน” ทั้งเชิงพื้นที่ (Area base) และเชิงประเด็น (Issue base) นำไปสู่การเกิดชุมชนสุขภาวะ ที่เป็นต้นแบบได้ในระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้น

          ดังนั้นศูนย์วิจัยนี้จึงเลือกพื้นที่กรณีศึกษาวิจัย ประกอบด้วย 1) ชุมชนในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งมีประชากรกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วยนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัย 2) ชุมชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช ประชากรเป้าหมายคือ ประชาชนที่มีครัวเรือนอยู่ในเขตพื้นที่ดังกล่าว 3) ชุมชนที่เข้าร่วมในกิจกรรมการขับเคลื่อนชุมชนน่าอยู่ เขตพื้นที่ภาคใต้ตอนบน 4) ชุมชนที่เข้าร่วมในกิจกรรมการพัฒนาและวิจัยเพื่อการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่นในเขตภาคใต้ นอกจากนี้ภายใต้การศึกษาวิจัยเชิงพื้นที่ ได้มีการศึกษาประเด็นสำคัญต่างๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาวะของประชาชนในแต่ละพื้นที่ เช่น 1) การจัดการขยะ 2) การส่งเสริมอาชีพ 3) การลดใช้สารเคมี 4) การจัดการสิ่งแวดล้อม 5) การดูแลผู้สูงอายุ และ 6) การส่งเสริมเด็กและเยาวชน เป็นต้น

          กระบวนการศึกษาวิจัยของศูนย์ความเป็นเลิศนี้ เน้นการตั้งคำถามกับปรากฏการณ์ที่พบในพื้นที่เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนว่าเป็นอย่างไร ออกแบบวิธีการศึกษาให้สอดรับกับคำถามที่ต้องการรู้ ซึ่งบางครั้งจำเป็นต้องออกแบบวิธีการศึกษา ด้วยการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เพื่อกระตุ้นให้ชุมชนได้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน เน้นการสนับสนุน ส่งเสริมให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการปฏิบัติการเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะของชุมชน จนสามารถพัฒนาให้พื้นที่เป้าหมาย เป็นชุมชนต้นแบบด้านการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนได้ตามระยะเวลาที่กำหนด เน้นการเปิดเผยองค์ความรู้เกี่ยวกับรูปแบบ แนวทางการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนในประชากรตามกลุ่มวัย (แรกเกิด วัยก่อนเรียน วัยเรียน วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ และวัยสูงอายุ) และการดูแลประชากรตามประเด็นปัญหาและความต้องการที่พบในพื้นที่ เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง การจัดการสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาวะ โรคที่เป็นปัญหา (โรคทั่วไป โรคเรื้อรัง โรคติดต่อ) ตลอดจนพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนให้การสร้างสุขภาวะสุขภาวะชุมชนมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เช่น การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อจัดเก็บข้อมูลในระยะยาว และช่วยวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว การพัฒนาโปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ เป็นต้น การศึกษาจึงเริ่มต้นจากการศึกษาสถานการณ์ปัญหาและความต้องการของชุมชน นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์สรุป เพื่อออกแบบแนวทางการดูแลสุขภาวะชุมชน ดำเนินการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน เพื่อก้าวไปสู่ชุมชนสุขภาวะ และประเมินผล โดยให้ผู้มีส่วนได้เสียในชุมชนมีส่วนร่วมทุกกระบวนการ และสรุปผลที่ได้จากการขับเคลื่อน วิเคราะห์ สังเคราะห์องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการ และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการศึกษาวิจัยทั้งหมด

           ดังนั้นศูนย์วิจัยนี้จึงเริ่มต้นจากการประชุมทีมงาน กำหนดทิศทางการสร้างองค์ความรู้สำหรับใช้เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน และร่วมกันพัฒนาโครงร่างข้อเสนอชุดแผนงานวิจัยเพื่อขอสนับสนุนการศึกษาวิจัยจากองค์กร หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ประสานงานการศึกษาจนสำเร็จตามเป้าหมาย ร่วมกันสังเคราะห์องค์ความรู้ที่ได้จากกลุ่มเพื่อเผยแพร่ให้กับสังคมได้นำใช้ ตลอดจนบูรณาการกับการเรียนการสอน การบริการวิชาการ การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และการวิจัยในระยะต่อไป

วิสัยทัศน์

“เป็นเลิศด้านสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนบน”

พันธกิจ

  1. วิเคราะห์สถานการณ์ปัญหา ความต้องการ ทุนและศักยภาพ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนภาคใต้ตอนบน
  2. พัฒนาระบบฐานข้อมูลสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะภาคใต้ตอนบน
  3. พัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาวะภาคใต้ตอนบน
  4. พัฒนาศักยภาพของเครือข่ายเพื่อสร้างความร่วมมือจากหลากหลายวิชาชีพ
  5. สร้างชุมชนต้นแบบการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนบนและขยายผลสู่สังคมวงกว้าง
  6. บูรณาการองค์ความรู้และนวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาวะสู่การจัดการเรียนการสอน การบริการวิชาการ และการวิจัย
  7. ขยายผลการศึกษาสู่ 4 ภาคียุทธศาสตร์ด้านการสร้างเสริมสุขภาพชุมชน (ท้องถิ่น ท้องที่ องค์กรชุมชน และภาคประชาชน)
  8. ขยายผลการศึกษาสู่ภาคเอกชนและองค์กรชุมชนเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น

ค่านิยม

เอกลักษณ์

ศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านการสร้างสุขภาวะชุมชนมีค่านิยมในการสร้างองค์ความรู้เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนตามบริบทของพื้นที่ และตามประเด็นสำคัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาวะของประชาชนในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง สามารถสร้างสุขภาวะด้วยชุมชนเองอย่างต่อเนื่องจนเป็นวิถีแห่งชุมชน สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ขยายผลสู่ชุมชนอื่นๆ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนองคาพยพสู่ชุมชนสุขภาวะอย่างกว้างขวาง  และนำประโยชน์ทางธุรกิจของภาคเอกชนและองค์กรชุมชน

เอกลักษณ์ของศูนย์วิจัยความเป็นเลิศ คือ “Community Health Promotion for Healthy Community” ที่เน้นให้เห็นกระบวนการศึกษาวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้านการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน เพื่อให้ชุมชนเป้าหมายเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง สามารถจัดการตนเองได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยให้คนในชุมชนมีสุขภาวะ และขยายผลสู่ชุมชนอื่น