ตราสัญลักษณ์ สวนล. ภาษาไทย

ระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก : จากงานวิจัยสู่งานประจำของชุมชนวลัยลักษณ์

การดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยความร่วมมือของคณะทำงานป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ส่วนกิจการนักศึกษา งานบริการกลาง ส่วนภูมิทัศน์ และโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์

จากสถานการณ์ในปัจจุบันปัญหาโรคไข้เลือดออกมีแนวโน้มการระบาดเพิ่มขึ้นในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกที่ผ่านมา ทางมหาวิทยาลัยโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการติดตั้งระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก เป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากผลงานวิจัยการพัฒนาและการประยุกต์ใช้รูปแบบการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกในมหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดิน ปีงประมาณ 2560 สัญญาเลขที่ WU60113 โดยการวิจัยได้รูปแบบการเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ 9000 กว่าไร่ ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีพนักงานทำความสะอาดดูแลประจำอาคาร เกือบ 200 อาคาร สำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในอาคารทุกวันจันทร์ และส่งข้อมูลไปยังฝ่ายเวชกรรมสังคมของโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ รายงานผลทุกเดือนผ่านระบบวิเคราะห์ค่าดัชนีลูกน้ำ BI, HI, และ CI ผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ http://dengue.wu.ac.thปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีคณะทำงานป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกที่มีหน้าที่กำกับและติดตามการดำเนินการ และมีศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออกให้การสนับสนุนด้านวิชาการ จนกลายเป็นงานประจำพนักงานทำความสะอาดที่ดำเนินการสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทุกอาคารในพื้นที่มหาวิทยาลัย 

การติดตามการดำเนินการจะมีการอบรมทบทวนความรู้โรคไข้เลือดออก และระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์แก่พนักงานทำความสะอาด ได้จัดขึ้นต่อเนื่องปีละ 1 ครั้ง โดยครั้งนี้ได้จัดขึ้น ณ ห้องประชุม 1 อาคารวิจัย โดยมี ศ.น.สพ.ดร. อภินันท์ สุประเสริฐ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม และ รศ.ดร. จรวย สุวรรณบำรุง และคณะจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิจัยและบริการวิชาการ โรคไข้เลือดออก เป็นผู้สรุปประเด็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลาย ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนทั้งสิ้น 101 คน สำหรับประเด็นที่สำคัญของการประชุมได้แก่
1) สรุปสถานการณ์โรคไข้เลือดออกภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคไข้เลือดออกในช่วงปี พ.ศ. 2560 และอาจต่อเนื่องถึงปี พ.ศ. 2561 
2) ทบทวนความรู้เรื่องไข้เลือดออก เพื่อให้เข้าใจและดำเนินการป้องกันแก้ปัญหาที่ยั่งยืนขึ้น
3) ทบทวนระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืน โดยแบ่งพื้นที่มหาวิทยาลัยออกเป็น 6 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 หอพักนักศึกษา โซนที่ 2 บ้านพักบุคลากร โซนที่ 3 อาคารเรียน โซนที่ 4 อาคารศูนย์เครื่องมือ โซนที่ 5 อาคารวิชาการ โซนที่ 6 อาคารสนามกีฬา และมีการเสนอในการกำหนดโซนที่ 7 ที่เป็นพื้นที่และอาคารของโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ 
4) เน้นย้ำการสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในหอพักนักศึกษาช่วงการเปิดเทอมตอนรับนักศึกษาใหม่ปีการศึกษา 1/2561 ในเดือนกรกฏาคม 2561 ตลอดถึงบันทึกข้อมูลลงในสมุดเล่มสีม่วงในทุกวันจันทร์ และนำเข้าข้อมูลในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนโดยฝ่ายเวชกรรม โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ใน http://wu-dengue.wu.ac.th

หัวใจของการดำเนินการคือ พนักงานทำความสะอาดทั้งหมดของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เกิดการตื่นตัวในการทำความเข้าใจเรื่องโรคไข้เลือดออก ระบบเฝ้าระวังฯ และการใช้ข้อมูลในการสร้างความตระหนัก และพร้อมที่จะดำเนินการช่วยกันดูแลในการเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืนภายในมหาวิทยาลัยลักษณ์ต่อไป

ประมวลภาพ


  • หน่วยงานผู้ส่งข่าว – ส่วนสื่อสารองค์กร