ตราสัญลักษณ์ สวนล. ภาษาไทย

ม. วลัยลักษณ์ขับเคลื่อนพันธกิจสัมพันธ์ใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ผ่าน 6 เครือข่าย สกอ.

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รับเกียรติจาก สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ (สกอ.) ให้เป็นแม่ข่ายดูแลและประสานงาน 6 เครือข่ายวิจัยบริการวิชาการ-อนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่น-เชื่อมโยงสถานประกอนการส่งเสริมผู้ประกอบการ ร่วมกับ 7 สถาบันอุดมศึกษา และ 4 วิทยาเขตสถาบันอุดมศึกษา ในเขตพื้นที่ภาคใต้ 7 จังหวัด (ระนอง ชุมพร พังงา กระบี่ ภูเก็ต นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี) ได้แก่

1) เครือข่ายอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ. สธ.) สนองพระราชดำริ โดยสกอ. ภาคใต้ตอนบน (เครือข่าย C11) เชื่อมโยงเครือข่ายประชาสังคม วิสาหกิจชุมชนและโรงเรียน เพื่อจัดกิจกรรม และเผยแพร่ การเรียนรู้-ใช้ประโยชน์-สร้างจิตสำนึก เชิงอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่น ที่รวมถึง ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทรัพยากรชีวภาพ พันธุ์สัตว์ และ พรรณไม้ (ในส่วนข้อเสนอโครงการวิจัยและบริการวิชาการ ให้เสนอผ่านโครงการอุทยานพฤกษศาสตร์ โดยเปิดรับข้อเสนอโครงการประมาณเดือนกรกฎาคมของทุกปี)

2) เครือข่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนฐานราก สกอ. ภาคใต้ตอนบน(เครือข่าย C2) เชื่อมโยงเครือข่ายประชาสังคมและวิสาหกิจชุมชน โดยส่งเสริมการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีที่ได้จากการศึกษาวิจัยของสถาบันอุดมศึกษาไปสู่ชุมชน เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนโดยผนวกกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเมื่อนับตั้งแต่ปี 2547 ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับนักวิจัยใน 13 สถาบันไปแล้ว มากกว่า 200 โครงการ เปิดรับข้อเสนอโครงการประมาณเดือนกันยายนของทุกปี

3) เครือข่ายวิจัยภาครัฐร่วมเอกชนในเชิงพาณิชย์ สกอ. ภาคใต้ตอนบน (เครือข่าย C8)  เชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมและสถานประกอบการ โดยสนับสนุนให้นำองค์ความรู้จากสถาบันอุดมศึกษา มาร่วมวิจัยและพัฒนากับกลุ่มอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นตามความต้องการอุตสาหกรรม เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือ ปรับปรุงผลิตภัณฑ์เดิม เพิ่มมูลค่าและศักยภาพการแข่งขันเชิงพาณิชย์ พัฒนากระบวนการผลิต รวมถึงแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรม โดย สกอ. สนับสนุนทุนวิจัย 70% ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม 30% เปิดรับข้อเสนอโครงการประมาณเดือนกันยายนของทุกปี

4) เครือข่ายบ่มเพาะวิสาหกิจ (UBI) สกอ. ภาคใต้ตอนบน (เครือข่าย C6) เชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมและสถานประกอบการ โดยสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ ในรูปแบบ Start up หรือ Spin off ในภูมิภาค ซึ่งจะมีส่วนส่งเสริมนวัตกรรมที่สามารถใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ ตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์

5) เครือข่ายสหกิจศึกษา สกอ. ภาคใต้ตอนบน (เครือข่าย C7) เชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมและสถานประกอบการ โดยสนับสนุนสหกิจศึกษาของนักศึกษา ในภาคการผลิตและสถานประกอบการ

6) โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาฯ โดยมีสถาบันอุมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง ดำเนินการโดยเครือข่ายอุดมศึกษาภาคใต้ตอนบน (เครือข่าย B) เชื่อมโยงโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดยสนับสนุนงบประมาณให้สถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยงโรงเรียน จัดกิจกรรมและพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน ที่มีวัตถุประสงค์ 1) ส่งเสริมนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ 2) พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษภาษาไทย 3) STEM 4) พัฒนาคุณธรรมจริยธรรม 5) ส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อไม่เป็นเหยื่อสังคม ฯลฯ เปิดรับข้อเสนอโครงการประมาณเดือนกันยายนของทุกปี

ติดตามข่าวสารความสำเร็จ และกิจกรรมของเครือข่าย ได้จาก FACEBOOK เครือข่ายอุดมศึกษาภาคใต้ตอนบน