วช.ร่วมกับ มศว. และมวล. จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อหลักสูตร “วิทยากรหลักสูตรสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่” และหลักสูตร “สร้างนักวิจัยรุ่นใหม่” : ภาคใต้

นักวิจัยรุ่นใหม่

เมื่อวันอังคารที่ 29 เมษายน 2568 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อหลักสูตร “สร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ วช.” และ “วิทยากรสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ วช.” (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2567) โดยมีกำหนดจัดขึ้นใน 4 ภูมิภาค ซึ่งครั้งนี้จัดโดยได้รับความร่วมมือผ่านมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะหน่วยงานเครือข่ายด้านการวิจัย (ผู้จัด) ทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานเครือข่ายด้านการวิจัย (ผู้จัด) วิทยากรที่เคยผ่านการฝึกอบรมโครงการฝึกอบรม “วิทยากรหลักสูตรการพัฒนานักวิจัย” (Training for the trainers) (แม่ไก่) และผู้ที่เคยผ่านการฝึกอบรมโครงการฝึกอบรม “สร้างนักวิจัยรุ่นใหม่” (ลูกไก่) ในภูมิภาค: ภาคใต้ โดยมีนางสาวสุกัญญา อามีน ผู้อำนวยการกลุ่มขับเคลื่อนนโยบายโดยการวิจัย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.นวดล เพ็ชรวัฒนา หัวหน้าโครงการศึกษาแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรและรูปแบบการจัดอบรมโครงการ “วิทยากรหลักสูตรการพัฒนานักวิจัย” (Training for the trainers) (แม่ไก่) และ “สร้างนักวิจัยรุ่นใหม่” (ลูกไก่) ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นที่มีต่อหลักสูตรและรูปแบบในการดำเนินโครงการฝึกอบรม “วิทยากรหลักสูตรการพัฒนานักวิจัย” (Training for the trainers) (แม่ไก่) และโครงการฝึกอบรม “สร้างนักวิจัยรุ่นใหม่” (ลูกไก่) โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วิชิตพันธุ์ รองวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้การต้อนรับ

การประชุมครั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.นวดล เพ็ชรวัฒนา ได้ชี้แจงรายละเอียด พร้อมด้วย แนวทางในการดำเนินงานและการพัฒนาหลักสูตร โครงสร้างและรายละเอียดหลักสูตร การประเมินผลการฝึกอบรม การคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรม รูปแบบการอบรม บทบาทของหน่วยงานเครือข่ายด้านการวิจัย (ผู้จัด) บทบาทของผู้ทรงคุณวุฒิ และการประกันคุณภาพและมาตรฐานหลักสูตรพร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย วิทยากร ผู้ที่เคยผ่านการฝึกอบรมโครงการฝึกอบรม “วิทยากรหลักสูตรการพัฒนานักวิจัย” (Training for the trainers) (แม่ไก่) และผู้ที่เคยผ่านการฝึกอบรมโครงการฝึกอบรม “สร้างนักวิจัยรุ่นใหม่” (ลูกไก่) และผู้ประสานงานจากหน่วยงานเครือข่ายด้านการวิจัย (ผู้จัด) ในภาคใต้ ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ซึ่งได้นำเสนอความคิดเห็นในหลายมิติ ทั้งในแง่การบริหารจัดการและความคาดหวังต่อการเข้ารับการอบรม ซึ่งเป็นความคิดเห็นที่ได้รับจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปปรับปรุงเนื้อหาและวิธีการจัดอบรมให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง โดยคณะนักวิจัยจะได้รวบรวมความคิดเห็นเพื่อนำไปใช้ปรับปรุงหลักสูตรและรูปแบบที่เหมาะสมในการจัดทำหลักสูตรพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมให้สอดคล้องกับบริบทสถานการณ์ในปัจจุบัน และจัดทำหมวดวิชาที่มีเนื้อหาครอบคลุมและทันสมัย รวมทั้งวางแนวทางการพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถเชื่อมโยงกับการรับรองสมรรถนะทางวิชาชีพและการรับรองมาตรฐานหลักสูตรเพื่อนำไปสู่การสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพสู่ระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศต่อไป