ตราสัญลักษณ์ สวนล. ภาษาไทย

ม.วลัยลักษณ์ ร่วมกับ สกว. จัดกิจกรรมพัฒนากรอบโจทย์วิจัย เพื่อจัดทำร่างประกาศทุนวิจัยเชิงพื้นที่ ภายใต้โครงการ “การสร้างความมั่นคงทางอาชีพในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง”

สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดกิจกรรมพัฒนากรอบโจทย์วิจัย เพื่อจัดทำร่างประกาศทุนวิจัยเชิงพื้นที่ ภายใต้โครงการ “การสร้างความมั่นคงทางอาชีพในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง” ซึ่งเป็นทุนความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อวันที่ 20-21 กุมภาพันธ์ 2560 ณ พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในการจัดกิจกรรมดังกล่าว ได้รับความกรุณาจากนักวิจัยพี่เลี้ยง คือ รองศาสตราจารย์.ดร.ก้าน จันทร์พรหมมา และ อาจารย์สุปราณี จงดีไพศาล ซึ่งทั้งสองท่านเป็นทีมนักวิจัยพี่เลี้ยงในพื้นที่ จาก สกว. พื้นที่ในการศึกษาแบ่งตามอาชีพของแต่ละพื้นที่ ได้แก่ การทำสวนส้มโอทับทิมสยาม ตำบลคลองน้อย  อาชีพการทำนาข้าว ตำบลขนาบนาก ตำบลปากแพรก ตำบลท่าพญา และตำบลบ้านเพิง  อาชีพการทำไร่จาก ตำบลขนาบนาก และ อาชีพการปลูกพืชผัก ในตำบลท่าซอม อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งการพัฒนากรอบโจทย์วิจัยดังกล่าวเป็นการพัฒนากรอบโจทย์วิจัยถึง 4 เวทีภายใน 2 วัน นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ชิตณรงค์ ศิริสถิตย์กุล รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศราวุธ ปาลิโภชน์ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา นักวิจัยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และบุคลากรสถาบันวิจัยและพัฒนา โดยมีตัวแทนจากภาคส่วนราชการ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องหมุนเวียนแลกเปลี่ยนเข้าร่วมเวที อาทิเช่น คุณศุภชัย อักษรวงศ์ ผู้แทนจากศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ผู้แทนจากสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด เกษตรอำเภอปากพนัง เกษตรตำบล พัฒนากร องค์การบริหารส่วนตำบล ฯลฯ รวมทั้งเกษตรกร ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการพัฒนากรอบโจทย์วิจัยดังกล่าว กระบวนการจัดเวทีที่เน้นการมีส่วนร่วมของเกษตรกรและมีกิจกรรมให้ได้ร่วมคิดร่วมทำส่งผลให้บรรยากาศทั้ง 4 เวที เต็มไปด้วยการแสดงความคิดเห็นในประเด็นสถานการณ์ของแต่ละอาชีพ ศักยภาพของเกษตรกร สภาพปัญหา และแนวทางการแก้ไขปัญหา ข้อมูลจากเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องสะท้อนให้เห็นถึงจุดเด่น และจุดที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติมของแต่ละอาชีพชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ดีข้อมูลที่ได้จากเวทีทั้ง 4 เวทีนั้น จะนำไปสู่การพัฒนาร่างประกาศรับข้อเสนอโครงการวิจัยเชิงพื้นที่ โดยการวิเคราะห์ให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาอาชีพของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ทั้งนี้ร่างประกาศรับข้อเสนอดังกล่าวจะได้รับข้อเสนอแนะเพื่อตีกรอบให้ชัดเจนและเกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อเกษตรกรตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จากผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิจัยที่เลี้ยงจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 และเข้าสู่กระบวนการจัดทำประกาศรับข้อเสนอโครงการวิจัยเชิงพื้นที่ต่อไป

ภาพและข่าวโดย นางสาวสุจินดา ย่องจีน