ตราสัญลักษณ์ สวนล. ภาษาไทย

ดร. เลิศชาย ศิริชัย ร่วมบรรยายในการสัมมนา “อนาคตลุ่มน้ำปากพนัง..ทิศทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

คณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้จัดงานสัมมนา “อนาคตลุ่มน้ำปากพนัง…ทิศทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน” เมื่อวันจันทร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 ณ ศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้บริหาร เจ้าหน้าที่รัฐ นักวิชาการ และประชาชน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาของลุ่มน้ำ นำไปสู่การศึกษาหาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำปากพนังอย่างยั่งยืน โดยมี พลเรือเอก ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์ รองประธานคณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คนที่ 2 เป็นประธานในการสัมมนา และ ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว รองประธานคณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติ คนที่ 4 เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย ซึ่งมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักงาน กปร. สำนักงบประมาณ สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม สภาการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ หน่วยงานในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และตัวแทนชุมชนลุ่มน้ำปากพนัง เข้าร่วมการสัมมนาประมาณ 150 คน

การสัมมนาครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมสัมมนาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จำนวน 10 คน อาทิ รศ.ดร.ชิตณรงค์ ศิริสถิตกุล รศ.ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ ผศ.ดร.ปกรณ์ ดิษฐกิจ และเจ้าหน้าที่จากสถาบันวิจัยและพัฒนา โดย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและเครือข่ายสังคม ดร.เลิศชาย ศิริชัย ได้ร่วมบรรยายพิเศษ เรื่อง “การบริหารจัดการลุ่มน้ำปากพนังเพื่อชุมชนเข้มแข็ง” ซึ่งท่านได้ให้ข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนางานวิจัยที่นำไปสู่การสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีนั้น จะต้องไม่ละเลยการสร้างความเป็นธรรม การสร้างความเข้มแข็ง และการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน ซึ่งจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้และทรัพยากรชุมชน

ทางด้านพลเรือเอกธราธร ขจิตสุวรรณ ประธานคณะอนุกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง ได้สรุปและให้ข้อเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังไปสู่ความยั่งยืนและเข้มแข็งของชุมชนได้นั้น ทุกภาคส่วนที่ทำงานและขับเคลื่อน ไม่ว่าภาคราชการ ภาควิชาการ ภาคองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือภาคประชาชน จะต้องเปิดใจยอมรับฟังซึ่งกันและกัน อาศัยการพินิจวิเคราะห์บนฐานของความรู้และความเข้าใจ และทำงานร่วมกันด้วยความจริงใจ โดยจะต้องอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเป็นกลไกในการขับเคลื่อนตั้งแต่กระบวนการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมขับเคลื่อน และน้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการพัฒนาบนฐานของความรู้ภูมิปัญญาของชาวลุ่มน้ำปากพนัง