ตราสัญลักษณ์ สวนล. ภาษาไทย

ม.วลัยลักษณ์ จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ การสืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูล Scopus

ศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.อภินันท์ สุประเสริฐ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ให้เกียรติเป็นประธานและกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “Scopus: The database for research and publication development” เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา ณ ห้องคอมพิวเตอร์ ชั้น 3 อาคารศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมี คุณนัฐพล สีสุรักษ์ จากบริษัท Elsevier เป็นวิทยากร ซึ่งการอบรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้หัวหน้าสาขาวิชา บรรณาธิการวารสาร คณาจารย์ นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา บุคลากร นักวิชาการ ตลอดจนผู้สนใจทั่วไปสามารถใช้งานฐานข้อมูล Scopus ได้เป็นอย่างดี

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยสถาบันวิจัยและนวัตกรรม มีนโยบายสนับสนุนการวิจัยที่มุ่งเน้นการวิจัยเชิงพื้นที่ (Area based research) โดยสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาที่ตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนท้องถิ่นภาคใต้ตอนบนเป็นหลัก ตลอดจนพัฒนางานวิจัยที่มุ่งสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อเป็นผู้นำด้านการวิจัยในระดับสากล และส่งเสริมการวิจัยเป็นกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้การบริหารงานวิจัยกับการบริการวิชาการจะมีความเชื่อมโยงกัน โดยมีความสมดุลระหว่างการวิจัยพื้นฐานเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่กับการวิจัยที่สามารถนำผลการวิจัยไปใช้แก้ปัญหาและพัฒนาท้องถิ่น ตามวิสัยทัศน์ ‘3 ล’ คือเป็น ‘แหล่ง’ ข้อมูลผลผลิตงานวิจัย เป็น ‘หลัก’ ของชุมชนท้องถิ่นด้วยกระบวนการวิจัยเพื่อพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็น ‘เลิศ’ สู่สากล

ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มมหาวิทยาลัยเครือข่าย (University Consortium) ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 28 แห่ง เพื่อรวมตัวกันบอกรับฐานข้อมูล Scopus เป็นเวลา 3 ปี ต่อเนื่อง (ค.ศ. 2017 – 2019) ภายใต้โครงการของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) ทำให้ได้รับการประเมินความสามารถในการวิจัย (Research Performance) ของมหาวิทยาลัย มีโอกาสพบปะและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการใช้ฐานข้อมูล Scopus และฐานข้อมูลอื่น ๆ ส่งผลต่อการเพิ่มโอกาสในการสร้างความร่วมมือในการทำวิจัยและกำหนดนโยบายต่าง ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการเรียนการสอน และด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัย

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบันมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีผลงานตีพิมพ์ในฐานข้อมูล Scopus จำนวน 978 เรื่อง โดยมี 1) ผู้ที่มีผลงานตีพิมพ์รวมมากที่สุดคือ รองศาสตราจารย์ ดร.ชิตณรงค์ ศิริสถิตย์กุล รักษาการแทนคณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ จำนวน 76 บทความ 2) วารสารที่ถูกตีพิมพ์มากที่สุดคือ Walailak Journal of Science and Technology จำนวน 41 บทความ

ทั้งนี้ ปี 2560 มีวารสารจากประเทศไทยอยู่ในฐานข้อมูล Scopus จำนวน 28 วารสาร จากวารสารไทยทั้งหมด 748 รายการในฐานข้อมูล TCI

ประมวลภาพ