ตราสัญลักษณ์ สวนล. ภาษาไทย

สถานการณ์ไข้เลือดออกเนื่องในวันไข้เลือดออกอาเซียน

เนื่องในวันไข้เลือดออกอาเซียน วันที่ 15 มิถุนายน 2559 ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ จัดประชุมสมาชิกกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นครั้งที่ 6 ในหัวข้อ “Community Empowerment a Sustainable Success to Fight Dengue ประชารัฐร่วมใจ ขจัดภัยไข้เลือดออก” ซึ่งมุ่งเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยในส่วนของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้จัดกิจกรรมเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างเป็นรูปธรรมของนักศึกษาและบุคลากร ซึ่งเป็นดำเนินการของเครือข่ายวลัยลักษณ์ร่วมใจป้องกันภัยโรคไข้เลือดออก

รองศาสตราจารย์ ดร.จรวย สุวรรณบำรุง หัวหน้าหน่วยวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก และอาจารย์ประจำสำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออกพบมากกว่า 100 ประเทศทั่วเขตโซนร้อนและกึ่งโซนร้อนของโลก โดยในแต่ละปีจะพบผู้ติดเชื้อไวรัสเดงกี จำนวน 50-100 ล้านราย และเสียชีวิตประมาณ 22,000 คน โดยประเทศสมาชิก ASEAN ทั้ง 10 ประเทศมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของประเทศไทยพบการระบาดของโรคไข้เลือดออกมาตั้งแต่ พ.ศ. 2501 และมีการระบาดอย่างต่อเนื่องแบบปีเว้นปีหรือปีเว้นสองปี โดยมีการระบาดใหญ่ในปี พ.ศ. 2530 และ 2556

ปัจจุบันสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของประเทศไทยยังมีแนวโน้มที่สูง แม้ว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยต่ำกว่าปี พ.ศ. 2558 แต่มีการประมาณการว่า จะมีแนวโน้มที่จะมีอัตราการป่วยที่สูงขึ้นเนื่องจากมีปัจจัยสาเหตุที่เกี่ยวข้องจากพฤติกรรมของคน และสภาพแวดล้อม

รองศาสตราจารย์ ดร.จรวย กล่าวต่อว่า ในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราชมีอัตราการป่วยของไข้เลือดออกอยู่ในอันดับต้นๆ ของภาคใต้ โดยมีการระบาดแบบปีเว้นปี ถึงแม้ว่าจะมีการดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคมาตลอด แต่อัตราการป่วยก็ยังคงสูงอยู่

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช มีจำนวนนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดต่างๆของประเทศไทยมาอยู่รวมกันเฉลี่ย 6,530 คนต่อปีการศึกษา (ส่วนกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, 2558) การพักรวมกันในหอพักแต่ละหอ ตลอดจนสภาพแวดล้อมที่ตั้งของมหาวิทยาลัยที่เป็นที่ราบลุ่มมีน้ำขังในช่วงฝนตก และที่สำคัญคือความเข้าใจต่อความรุนแรงและความตระหนักต่อการป้องกันโรคไข้เลือดออก พบว่า อัตราการป่วยของโรคไข้เลือดออกของนักศึกษาที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ช่วง 5 ปีย้อนหลังซึ่งคำนวณจากนักศึกษาทั้งหมดเฉลี่ยในแต่ละปี มีอัตราการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ปี พ.ศ. 2554, 2555, 2556, 2557, 2558, และ มกราคม ถึง พฤษภาคม พ.ศ. 2559 มีอัตราการป่วยเท่ากับ 130, 145, 84, 69, 51, และ 30 รายต่อแสนประชากร (โรงพยาบาลท่าศาลา, 2558)

ดังนั้น เครือข่ายวลัยลักษณ์ร่วมใจป้องกันภัยโรคไข้เลือดออก ซึ่งประกอบด้วย ส่วนกิจการนักศึกษา หน่วนวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก ชมรมวลัยลักษณ์ร่วมใจป้องกันภัยโรคไข้เลือดออก งานหอพัก งานรักษาพยาบาล สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ สำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ โรงพยาบาลท่าศาลา และนักศึกษาทุกสำนักวิชา ได้จัดกิจกรรมเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างเป็นรูปธรรม เช่น กิจกรรมที่สำคัญในวันแม่แห่งชาติของแต่ละปี เป็นต้น

วันที่ 15 มิถุนายน 2559 วันไข้เลือดออกอาเซียน เป็นวันที่มีความสำคัญ เป็นการสร้างความตระหนักต่อการป้องกันไข้เลือดออกของประเทศไทยอีกวันหนึ่ง ซึ่งมีประเด็นของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการสร้างความยั่งยืนในการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก “Community Empowerment a Sustainable Success to Fight Dengue ประชารัฐร่วมใจ ขจัดภัยไข้เลือดออก” ทั้งนี้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ดำเนินการในการป้องกันโรคไข้เลือดออกที่มีความร่วมมือของทุกฝ่ายมาตลอด สอดคล้องกับประเด็นดังกล่าว รองศาสตราจารย์ ดร.จรวย สุวรรณบำรุง หัวหน้าหน่วยวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก และอาจารย์ประจำสำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ กล่าวในตอนท้าย